กรุงเทพฯ 26 กันยายน 2565 – คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE เปิดตัวหลักสูตรใหม่ ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH เดินหน้ายกระดับวิศวกรรมยานยนต์แห่งอนาคต มุ่งสร้างวิศวกรในสาขา ‘วิศวกรรรมเพื่อการออกแบบและการผลิตชิ้นส่วน’ รับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เสริมทัพการเติบโตของรถยนต์ระบบไฟฟ้า หรือ EV รวมถึงภาคการผลิต โดยเป็นหลักสูตรที่ครอบคลุม 4 ทักษะแห่งอนาคต ได้แก่ 1) เครื่องกล 2) เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 3) ยานยนต์สมัยใหม่ และ 4) อุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่านการเรียนรู้ใน 2 องค์ความรู้หลัก คือ ‘วิศวกรรมยานยนต์’ (Automotive Engineering) การเรียนรู้ด้านการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ‘ออโตเมชัน’ (Industrial Automation) เทคโนโลยีอัตโนมัติในการควบคุมและสั่งการในกระบวนการผลิต เพื่อขานรับยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทย มุ่งพัฒนา EEC สู่การเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า’ ระดับโลก
สำหรับหลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH พร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ในปีการศึกษา 2566 โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัครทุกรอบได้ที่ https://engr.tu.ac.th, หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-3001 ต่อ 3256 หรือ 083-618-3410 ไลน์ไอดี @tse-thammasat และ https://web.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สนันตน์เขม อิชโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเครื่องกล ในฐานะผู้ประสานงานหลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ศูนย์พัทยา กล่าวว่า TSE ในฐานะผู้นำด้านการเรียนการสอนวิศวกรรมของไทยมากว่า 33 ปี ขณะนี้ TSE ได้เปิดหลักสูตรใหม่ ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH เพื่อต่อยอดความสำเร็จของหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ภายใต้โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (Programme of Innovative Engineering) หรือ TU-PINE ที่จัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการที่ศูนย์พัทยาตลอดหลักสูตร โดยมุ่งสร้างนวัตกรด้านวิศวกรรมยานยนต์ ให้เป็นกำลังสำคัญในห่วงโซ่การพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้ EEC เติบโตและขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในปัจจุบันมีนักลงทุนจากไทยและต่างประเทศให้ความสนใจจำนวนมาก
โดย TSE ได้ออกแบบหลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ทั้งในแง่ของการส่งเสริมให้มี ‘วิศวกรนักออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์’ ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ และขานรับนโยบายภาครัฐที่มุ่งยกระดับศักยภาพทรัพยากรบุคคลและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในภาคการผลิตและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เข้มแข็ง ซึ่ง TSE ได้เปิดตัวหลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่ ในปีการศึกษา 2566 ที่มีความสนใจด้านเครื่องยนต์กลไกสมัยใหม่ การออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมสั่งการและควบคุมการผลิต รวมถึงแนวคิดด้านการลดการปล่อยของเสีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน หรือ SDGs
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สนันตน์เขม อิชโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH มีรายละเอียดที่ครอบคลุมทักษะแห่งอนาคตเพื่อคนรุ่นใหม่ถึง 4 ด้าน ที่สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ 1) เครื่องกล (Mechanics) 2) เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Electronics & Embedded System) 3) ยานยนต์สมัยใหม่ (Modern Automotive) และ 4) อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Manufacturing)
ซึ่งหลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH ของ TSE มีจุดเด่นด้านองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาวิศวกรรมยานยนต์ด้วยองค์ความรู้หลัก 2 ด้าน ได้แก่
· ‘วิศวกรรมยานยนต์’ (Automotive Engineering) การเรียนรู้ด้านการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์, การออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์, ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU: Electronic Control Unit) และระบบฝังตัวสำหรับยานยนต์, ยานยนต์ไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
· ‘ออโตเมชัน’ (Industrial Automation) เทคโนโลยีอัตโนมัติในการควบคุมและสั่งการในกระบวนการผลิต ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้หลักการบริหารกระบวนการผลิตรถยนต์, มาตรฐานและความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์, ระบบการควบคุมอัตโนมัติและพีแอลซี (PLC: Programmable logic Control) ฯลฯ
ทั้งนี้ จุดเด่นและความพิเศษของหลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH ของ TSE ประกอบด้วย
1. ได้เรียนรู้วิชาเกี่ยวกับชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU) และระบบฝังตัวสำหรับยานยนต์ เนื่องจากในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ รถยนต์จะมีความอัจฉริยะในการเชื่อมโยงข้อมูลภายนอกมาปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน โดยมี ECU เป็นตัวควบคุม
2. ได้พัฒนาชุดควบคุมอัตโนมัติและพีซีแอล (PCL) หรือ โปรแกรมเมเบิลลอจิกคอลโทรลเลอร์ เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ผ่านการเขียนโปรแกรมหรือป้อนคำสั่ง (Coding) ไมโครโพรเซสเซอร์ (Microprocessor) ที่ทำหน้าที่ประมวลผลและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในภาคการผลิต และ
3. ได้สิทธิเลือกแผนการเรียนในปีการศึกษาสุดท้าย ใน 2 แนวทาง ได้แก่ ฝึกปฏิบัติที่สถานประกอบการจริง (Internship Track) และศึกษาวิจัยเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่สนใจ (Research Track)
นอกจากนี้ TSE ยังได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยอีแกม ลาซาล ประเทศฝรั่งเศส (ECAM LaSalle, France) ในการจัดตั้ง เทรนนิ่ง เซนเตอร์ (Training Center) ที่ มธ. ศูนย์พัทยา เพื่อเป็นเครือข่ายทางการศึกษาที่ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน เพื่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถให้กับนักศึกษาและผู้สนใจด้านวิศวกรรมยานยนต์ อีกทั้ง TSE ยังเชื่อมความร่วมมือกับสถานประกอบการใน EEC กว่า 20 แห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ของนักศึกษา
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกได้เร่งอัตราการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยคำนึงถึงปัจจัยด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่ต่างตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ไทย หากเร่งศึกษาถึงแนวทางการพัฒนา ‘แบตเตอรีลิเธียม-ไอออน’ แหล่งพลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง เพื่อลดการนำเข้าเซลล์แบตเตอรีจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของไทยในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อันสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งสนับสนุนให้ EEC ของไทยเป็น ‘ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV ระดับโลก ภายในปี 2030” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สนันตน์เขม อิชโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ หลักสูตร ‘วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’ หรือ V-TECH ภายใต้โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (Programme of Innovative Engineering) หรือ TU-PINE พร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ในปีการศึกษา 2566 ผ่านระบบ TCAS โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัครทุกรอบได้ที่ https://engr.tu.ac.th, หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-564-3001 ต่อ 3256 หรือ 083-618-3410 ไลน์ไอดี@tse-thammasat และ https://web.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น