(วันที่ 26 สิงหาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานประชุมผนึกกำลังความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างพลังผู้บริโภคภาคอีสาน เพิ่มอำนาจการต่อรอง และการรู้เท่าทันให้กับผู้บริโภคต่อสู้กับความซับซ้อนของการเอาเปรียบทางการค้า-การลงทุนใน ยุคดิจิทัล
“ความสำเร็จของการทำงานสภาองค์กรผู้บริโภค ไม่ได้วัดที่ตัวเลข หรือจำนวนผู้บริโภคที่เข้าไปช่วยเหลือ แต่คือความร่วมมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เห็นการตื่นตัวของผู้บริโภคในการพิทักษ์สิทธิ เป็นภาคีทำงานเคียงข้างสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คนมักเข้าใจผิดว่าเราเป็นศัตรูกับธุรกิจ ศัตรูกับการค้า การลงทุน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นคือ การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจน้ำดี” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
ซึ่งในการประชุมที่จัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ได้ขยายความเข้าใจให้กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ถึงบทบาทของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ปี 2562 มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รองรับ โดยเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคแห่งแรกในอาเซียน ด้วยมีภารกิจเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิ เข้าไปมีส่วนในการกำหนดกติการ่วมกับภาครัฐ ท้วงติงนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เตือนภัย เฝ้าระวัง ป้องกันการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในทุกรูปแบบ ผ่านเครือข่ายองค์กร 273 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น
ด้าน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ย้ำว่า ถึงเวลาที่ผู้บริโภคต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง “ถ้าไม่สู้ก็จะอยู่อย่างคนถูกเอาเปรียบ” โดยหัวใจสำคัญคือการ “สร้างเครือข่ายผู้บริโภค” เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องการผลักดันให้จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคให้ครบทุก 77 จังหวัดทั่วประเทศ จากในขณะนี้ที่มีอยู่ 30 กว่าจังหวัด โดยเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัด โดยอยากให้มองว่าจะเป็นการสนับสนุนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับภาครัฐ ไม่ได้เป็น “ศัตรู”
“กรณีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 20 จังหวัด แต่พบว่ามีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดอยู่เพียงจังหวัดเดียวที่จังหวัดร้อยเอ็ดจาก 14 หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดทั่วประเทศ และมีองค์กรผู้บริโภคอยู่เพียง 4-5 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไป เพราะเราต้องการการรวมตัวอย่างมีพลัง เพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภคซึ่งถูกเอาเปรียบเยอะมากในปัจจุบัน โดยสิทธิผู้บริโภคจะอยู่ในเศษกระดาษ ถ้าไม่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิปกป้องตัวเอง และยังเป็นการแก้ปัญหาสังคม เนื่องจากปัญหาผู้บริโภคในลักษณะเดียวกันก็จะถูกแก้ไขไปด้วย” บุญยืน กล่าว
ศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น กล่าวเปิดประชุม และบรรยายพิเศษการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคว่า ในยุคดิจิทัลผู้บริโภคจำเป็นต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ รู้สิทธิ รู้หน้าที่ สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง เพื่อปกป้องสิทธิ ไม่ให้ถูกละเมิดเอารัดเอาเปรียบ
“ปัจจุบันประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบต่อการซื้อสินค้าและบริการที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น มีการร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่าย ดังนั้นองค์กรผู้บริโภคจึงมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน” ปลัดจังหวัดขอนแก่น กล่าว
ในวันเดียวกัน ยังมีการเสวนา “เส้นทางการทำงานผู้บริโภค และความท้าทายในการคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัล” ซึ่งถือเป็นอีกปัญหาหลักผู้บริโภคถูกละเมิดในปัจจุบัน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า โลกดิจิทัลทำให้เกิดการหลอมรวมทำให้การซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงการโฆษณายากจะหาที่มาที่ไป ทำให้ง่ายต่อการเกิดการหลอกลวงครั้งใหญ่ ฉะนั้นการสร้างความร่วมมือภาคผู้บริโภค ในการติดตาม เฝ้าระวังปัญหาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“การสร้างความร่วมมือ คือหัวใจสำคัญ เพราะการซื้อของออนไลน์ไม่ได้ซื้อเฉพาะในกรุงเทพฯ รวยไม่ว่าแต่อย่าหลอกลวง ในโลกดิจิทัลทำให้เราหลวมรวมก็จริง แต่สิ่งที่แทรกอยู่ด้วยคือ กระบวนการหลอกลวงวงใหญ่ เดี๋ยวนี้เราซื้อสินค้าที่ห้างออนไลน์ ตอนซื้อเชียร์ซื้อ แต่ตอนชดเชยเยียวยายาก สินค้าซื้อแล้วไม่พอใจคืนได้ใน 7 วันตามกฎหมายขายตรง แต่จริงๆเราคืนไม่ได้ ที่ผ่านมาสภาองค์กรผู้บริโภคไปลงนามเอ็มโอยูกับห้างออนไลน์ให้ดูแลเรื่องนี้ ตอนแรกห้างออนไลน์บอกว่าไม่ได้เป็นคนขาย แต่เขาขายในแพลตฟอร์มคุณ เหมือนเอาของไปขายในห้างสรรพสินค้า จนสุดท้ายห้างออนไลน์ก็ยอมลงนามเอ็มโอยู ทำให้ตอนนี้ผู้บริโภคมีช่องทางการร้องเรียน การตรวจสอบสินค้าผ่านห้างออนไลน์เหล่านี้ รวมถึงมีช่องทางฟ้องศาลแพ่งผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งสามารถทำได้แล้ว” บุญยืน กล่าว
กนกพร ธัญมณีสิน ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โลกยุคโซเซียลเน็ตเวิร์กทำให้หาตัวตนผู้กระทำความผิดยากขึ้น จากตัวแทนขายที่มีจำนวนมาก และแพลตฟอร์มการค้าขายออนไลน์หลากรูปแบบจนอาจไล่ไม่ทัน อีกทั้งยังมีปัญหาการร้องเรียนจำนวนมาก เมื่อเทียบกับบุคลากรภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้ จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิผู้บริโภคร่วมกันอย่างไร้ร้อยต่อ พร้อมเสนอให้ตั้ง “องค์กรกลาง” เข้ามาเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน
“ความท้าทายคือทุกหน่วยงานต้องร่วมกันจัดการปัญหา ทลายกรอบราชการแม้ว่าเรายังสวมหมวกราชการ อยากให้มีองค์กรกลางมาทำงานร่วมกันมาแบ่งปันข้อมูลทรัพยากรร่วมกัน ร่วมกันแก้ปัญหาก่อนที่จะกลับไปทำงานตามบทบาทของหน่วยงานตัวเอง โดยส่วนตัวเชื่อว่าแม้เราทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้ แต่เราสามารถทำสิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ได้” กนกพร กล่าว
ชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ภาคธุรกิจพร้อมให้ความร่วมมือกับองค์กรผู้บริโภค เพราะอีกสถานะหนึ่งภาคธุรกิจก็คือผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเห็นว่าขณะนี้ภาคธุรกิจให้ความสนใจคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไม่เอารัดเอาเปรียบ เพราะรู้ดีว่าเมื่อเกิดปัญหากับผู้บริโภคปัญหาก็จะย้อนกลับมาที่ธุรกิจ ขณะที่ตามพ.ร.บ.หอการค้าฉบับใหม่ กำหนดให้มีกลไกกำกับมาตรฐานสินค้าและบริการสมาชิกด้วยกันเอง และสามารถเป็นอนุญาโตตุลาการเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าได้
อย่างไรก็ตาม เห็นว่านักธุรกิจก็ไม่ได้เก่ง หรือรู้กฎหมายทุกคน จึงจำเป็นต้องดูเจตนาว่าต้องการเอาเปรียบผู้บริโภคจริงหรือไม่ ถ้าจงใจทำซ้ำซากก็ต้องจัดการอย่างเข้มข้น พร้อมกับส่งเสริมธุรกิจที่ทำดี เอาน้ำดีไปเจือน้ำเสีย ให้รางวัลคู่กับธุรกิจที่ดี ลงโทษธุรกิจที่ไม่ดี ขณะที่ปัญหากลโกงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ตรวจสอบยาก มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตามเห็นว่าต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ในการติดตามผู้กระทำความผิด แจ้งเหตุ รับเรื่องร้องทุกข์ได้เร็ว ด้วยการนำระบบคราวด์ซอสซิ่งมาใช้ เป็นต้น
พ.ต.ท.จรัญ อะทะวงค์ สารวัตรฝ่ายกฎหมายและคดีปกครอง ตำรวจภูธรภาค 4 กล่าวถึงบริบทอำนาจของตำรวจว่า มีอำนาจดำเนินการความผิดทางอาญาเท่านั้น หากเป็นกรณีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่น การซื้อขายออนไลน์แล้วสินค้าไม่ตรงปก มีการเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหาย ส่วนใหญ่จะเข้าข่ายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยกเว้นผู้ขายมีเจตนาฉ้อโกง
“การลวงขายของออนไลน์ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณา จะตีเป็นความผิดเชิงอาญาทั้งหมดไม่ได้ เช่น ซื้อสินค้าออนไลน์จากผู้ขายที่รีวิวไอโฟน13 ผู้ซื้อสนใจสั่งซื้อ ผู้ขายส่งสินค้ามาจริงๆเป็นก้อนหิน ท่อนไม้ รูปคดีที่เกิดขึ้นเป็นการเจตนาโกง เป็นความผิดเชิงอาญา”
ขณะเดียวกัน อยากฝากถึงผู้ขายต้องตระหนักความรับผิดชอบต่อสังคม ความซื่อสัตย์ต้องมาอันดับ1 ส่วนผู้ซื้อต้องความระมัดระวัง ด้วยการไม่โอนเงินก่อนได้รับสินค้า ป้องกันดีกว่าแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายให้อำนาจสามารถฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองแทนผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายได้ ดังนั้นตำรวจจะมองว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีแทนผู้บริโภคเพื่อเอาผิดผู้กระทำความผิดได้
ณรงค์วิทย์ มหาศิริกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงกฎหมายดิจิทัลกับการคุ้มครองผู้บริโภคว่า สถาบันการศึกษาพร้อมช่วยเหลือผู้บริโภคในการสร้างความเข้าใจด้านกฎหมายดิจิทัล กับผู้บริโภคที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ผ่านอบรม และเข้ามาสอบถาม ขณะที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรคุ้มครองผู้บริโภค คือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แม้จะเป็นวิชาเลือกแต่ พบว่ามีการลงทะเบียนเต็มตลอด
ปฏิวัติ เฉลิมชาติ กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ฝากถึงผู้บริโภคยุคใหม่ว่าต้องเท่าทันสถานการณ์ละเมิดสิทธิเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และทำงานใกล้ชิดกับสภาองค์กรของผู้บริโภคที่นอกจากจะทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคแล้ว ที่ผ่านมายังทำงานทางเลือก เช่น สนับสนุนการเปิดตลาดสีเขียว เพื่อให้ผู้บริโภคสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ไม่ใช่สารเคมี ดำเนินการเรื่องบำนาญประชาชน บำนาญทั่วหน้า เพื่อยกระดับชีวิตผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น