[เซินเจิ้น ประเทศจีน, 28 มีนาคม 2565] หัวเว่ยเผยรายงานประจำปี พ.ศ. 2564 ด้วยแผนการดำเนินงานที่มั่นคงตลอดปีที่ผ่านมา โดยระบุว่าหัวเว่ยประสบความสำเร็จด้วยรายได้ที่ 636.8 พันล้านหยวนในปี พ.ศ. 2564 มีผลกำไรสุทธิ 113.7 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 75.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทสูงถึง 142.7 พันล้านหยวนในปีพ.ศ. 2564 คิดเป็น 22.4% ของรายรับทั้งหมด ส่งผลให้รายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาตลอด 10 ปีที่ผ่านมารวมมากกว่า 845 พันล้านหยวน ในอนาคต บริษัทยังวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายกัว ผิง ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ณ งานแถลงข่าว
นายกัว ผิง ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในงานแถลงข่าวว่า "โดยภาพรวมแล้ว ผลการดำเนินงานของเราเป็นไปตามที่คาดการณ์ ธุรกิจการให้บริการด้านเครือข่ายของเรายังคงมีเสถียรภาพ ในขณะที่ธุรกิจสำหรับองค์กรเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ธุรกิจสำหรับผู้บริโภคของเราได้ขยายไปสู่โดเมนใหม่และยังเริ่มการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็วอีกด้วย"
ด้านนางเมิ่ง หว่านโจว ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของหัวเว่ย เปิดเผยว่า "แม้ว่ารายได้ในปี พ.ศ. 2564 จะลดลง แต่เราสามารถทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น มีศักยภาพในการบริหารธุรกิจมากขึ้นท่ามกลางความผันผวนต่างๆ" ด้วยศักยภาพในการทำกำไรเพิ่มขึ้นจากธุรกิจหลัก ในปี พ.ศ. 2564 กระแสเงินสดของบริษัทจากการดำเนินงานจึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็นมูลค่ารวม 59.7 พันล้านหยวน ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินลดลงเหลือเพียง 57.8% โครงสร้างทางการเงินโดยรวมจึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2564 ธุรกิจการให้บริการด้านเครือข่ายของหัวเว่ยสร้างรายได้ทั้งหมด 281.5 พันล้านหยวน ส่งผลให้ผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกใช้งานเครือข่าย 5G มากขึ้น ผลวิจัยจากองค์กรอิสระเปิดเผยว่าเครือข่าย 5G ที่พัฒนาโดยหัวเว่ยสำหรับลูกค้าใน 13 ประเทศ รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้งาน นอกจากนี้ หัวเว่ยยังทำงานร่วมกับผู้ให้บริการและพันธมิตรโดยลงนามในสัญญาเชิงพาณิชย์มากกว่า 3,000 ฉบับสำหรับการใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม และมีการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในกิจการเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต เหมืองแร่ โรงงานผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ธุรกิจท่าเรือและโรงพยาบาล
ด้วยกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจสำหรับองค์กรของหัวเว่ยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสร้างรายได้ 102.4 พันล้านหยวนในปี พ.ศ. 2564 โดยในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยยังได้เปิดตัว 11 โซลูชันที่ใช้เพื่อประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ (scenario-based solutions) สำหรับภาครัฐ การขนส่ง การเงิน พลังงาน และการผลิต บริษัทได้จัดตั้งทีมเฉพาะทางหลายทีม ทั้งทีมด้านเหมืองถ่านหิน ทีมด้านถนนอัจฉริยะ และทีมด้านศุลกากรและท่าเรือ เพื่อรวมทรัพยากรมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เมืองใหญ่กว่า 700 เมืองและบริษัทจาก Fortune Global 500 จำนวน 267 แห่งเลือกหัวเว่ยเป็นพันธมิตรหลักในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ปัจจุบันหัวเว่ยทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้ให้บริการและผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 6,000 รายทั่วโลก
ธุรกิจสำหรับผู้บริโภคของหัวเว่ยมุ่งเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภค โดยสร้างอีโคซิสเต็มทั่วโลกเพื่อต่อยอดสังคมอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ชีวิตไร้รอยต่อด้วย AI (Seamless AI Life) ของบริษัท ธุรกิจนี้สร้างรายได้กว่า 243.4 พันล้านหยวนในปี พ.ศ. 2564 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้านการพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ หน้าจออัจฉริยะ หูฟังสเตอริโอไร้สาย (TWS) และ Huawei Mobile Services (HMS) โดยกลุ่มอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะและหน้าจออัจฉริยะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ได้รับการติดตั้งในอุปกรณ์หัวเว่ยกว่า 220 ล้านเครื่องในปีพ.ศ. 2564 และกลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์พกพาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
ในช่วงปีที่ผ่านมา หัวเว่ย มุ่งสร้างอีโคซิสเต็ม openEuler, MindSpore และ HarmonyOS โดยอิงตามหลักการทำงานร่วมกันและเติบโตร่วมกัน ปัจจุบัน นักพัฒนาซอฟต์แวร์กว่าแปดล้านคนใช้แพลตฟอร์มแบบเปิด รวมถึงซอฟต์แวร์แบบเปิดกว้างของหัวเว่ยและเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ทางธุรกิจและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ
นายกัว ผิง เน้นย้ำว่า "หัวเว่ยพร้อมก้าวไปข้างหน้าเพื่อมุ่งสู่วิถีดิจิทัล พร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างชาญฉลาด โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปพร้อมกัน มุ่งเน้นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณด้านนวัตกรรม เราจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับกระบวนทัศน์ด้านทฤษฎีพื้นฐาน รูปแบบสถาปัตยกรรมและซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว"
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าทางธุรกิจและกลยุทธ์ต่างๆ สำหรับประเทศไทย โดยเน้นย้ำว่าหัวเว่ยมีความมุ่งมั่นและมีศักยภาพที่จะให้บริการลูกค้าไทยและสังคมไทยอย่างต่อเนื่องบนเส้นทางการไปสู่ดิจิทัล ทั้งนี้เขาได้กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของหัวเว่ยเสมอมาและยังเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเรา โดยในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ดำเนินภารกิจ “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทยและร่วมสนับสนุนประเทศไทย” ผ่านการสนับสนุนรัฐบาลไทย ลูกค้าไทย และบรรดาพาร์ทเนอร์ในไทย ด้วยการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและเป็นพาร์ทเนอร์ด้านไอซีทีที่ได้รับความไว้วางใจ เป็นผู้มุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนคุณค่าทางสังคมอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยมีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยประเทศไทยสร้างสถานี 5G ไปแล้วกว่า 20,000 แห่ง ในฐานะผู้ให้บริการ 5G อันดับหนึ่ง และหัวเว่ยคลาวด์ยังเป็นผู้ให้บริการระดับโลกเพียงรายเดียวในไทยที่มีศูนย์ข้อมูลอยู่ในประเทศไทยถึง 3 จุด โดยตั้งแต่หัวเว่ยได้ก่อตั้งส่วนธุรกิจใหม่อย่างดิจิทัลพาวเวอร์ในปี พ.ศ. 2564 โซลูชัน PV และไซต์พลังงานอัจฉริยะของหัวเว่ยได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดอย่างรวดเร็ว”
สำหรับประเด็นด้านแผนการลงทุนในประเทศไทยของหัวเว่ยในอนาคต นายอาเบลได้กล่าวถึง 4 แนวทางหลักว่า “หัวเว่ยจะมุ่งสนับสนุนการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อการเชื่อมต่อที่ครอบคลุมทุกหนแห่ง สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยีคลาวด์ เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยพลังงานดิจิทัล รวมทั้งมุ่งเสริมสร้างทักษะทางด้านดิจิทัลและอีโคซิสเต็มของนวัตกรรม โดยในปี พ.ศ. 2565 นี้ หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะผลักดันเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมมากกว่า 70% ของจำนวนประชากร เพิ่มอัตราผู้ใช้งาน 5G ของจำนวนประชากรทั้งหมดจาก 10% ให้เป็น 20% ครอบคลุม 16% ของกราฟอัตราการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซึ่งอิงจากทฤษฎีการตอบรับกับนวัตกรรม ศูนย์ข้อมูลแห่งที่สามของเราจะทำให้หัวเว่ยสามารถส่งมอบบริการต่างๆ ที่มีความเสถียรให้แก่ลูกค้า โดยในปี พ.ศ. 2565 นี้ ในส่วนของหัวเว่ย คลาวด์มีแผนที่จะเปิดตัวการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) ใหม่ๆ อีกกว่า 80 รูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้ากลุ่มธนาคาร เอสเอ็มอี และผู้ให้บริการประเภท Over-the-top ตอบรับกับการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลและใช้เทคโนโลยีคลาวด์มากขึ้น ส่วนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วนธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ของหัวเว่ยจะเปิดตัวสายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในประเทศ อาทิ ผลิตภัณฑ์ PV อินเวอร์เตอร์อัจฉริยะรุ่นใหม่ที่ปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม หัวเว่ยยังจะมุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อีโคซิสเต็มด้านนวัตกรรมของประเทศไทย โดยบริษัทจะมุ่งลงทุนในด้าน 5G EIC (Ecosystem Innovation Center) เพื่อเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์จาก 70 รายเป็น 120 ราย ด้านโครงการ หัวเว่ย Spark Program เราจะให้การสนับสนุนผู้พัฒนามากกว่า 2,000 รายและสตาร์ทอัพอีกมากกว่า 300 รายต่อปี ส่วนในด้านการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล เราจะมุ่งขยาย ASEAN Academy โปรแกรม Seeds for the Future และโครงการฝึกอบรมร่วมกับมหาวิทยาลัย 23 แห่งในประเทศไทยของเราต่อไป เพื่อบ่มเพาะทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรถึง 20,000 คนภายในปี พ.ศ. 2565 นี้”
งบการเงินทั้งหมดในรายงานประจำปี พ.ศ. 2564 ได้รับการตรวจสอบโดย KPMG ซึ่งเป็นสำนักงานบัญชีระดับสากลของ Big Four ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานประจำปี 2564 ได้ที่ https://www.huawei.com/en/annual-report/2021.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น