ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อปีพ.ศ. 2562 ระหว่าง 6 องค์กรพันธมิตร อันได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิรักษ์ปะการังโดยความอุปถัมภ์ของบมจ. เอจีซี วีนิไทย และบริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นพ้องที่จะดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเล วิถีชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน รวมทั้งส่งผลดีทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ
ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของทุกองค์กรร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ได้แก่ นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ผศ.วิชลัดดา อุ่นสะอาด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี, ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายประสาน แสงไพบูลย์ ประธานมูลนิธิรักษ์ปะการัง โดยความอุปถัมภ์ ของบมจ.เอจีซี วีนิไทย และ นายโทโมทากะ โยชิคาวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
ภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการบูรณาการองค์ความรู้และประสบการณ์มาช่วยกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งท้องถิ่นในการบริหารจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังให้สามารถฟื้นตัวและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน อันนำไปสู่การสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เป็นแหล่งทรัพยากรท้องถิ่นที่มีคุณค่า พร้อมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปด้วย โดยมีระยะเวลาความร่วมมือในการดำเนินงาน 4 ปี และมีการทบทวนความร่วมมือทุก 2 ปี
การดำเนินงานของมูลนิธิรักษ์ปะการังฯ ภายใต้โครงการเอจีซี วีนิไทยร่วมใจปลูกปะการังระยะที่3 ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมานั้น ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน รวมถึงชุมชนชายฝั่งท้องถิ่นทั้ง 6 พื้นที่ ได้แก่ เกาะกูดและเกาะหมาก จังหวัดตราด, เกาะสีชังและเกาะเกล็ดแก้ว จังหวัดชลบุรี, เกาะไข่ จังหวัดชุมพร และเกาะพยาม จังหวัดระนอง มูลนิธิรักษ์ปะการังฯ ตระหนักดีว่าหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์นั้นคือความเข้มแข็งของเครือข่ายพันธมิตรในการนำความรู้ความสามารถ ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ที่มีมาช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเสียสละ มุ่งมั่นและทุ่มเท โดยเป็นที่ประจักษ์จากกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ดังนี้ 1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น การประชุมเครือข่ายซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในการฟื้นฟูปะการังที่ตรงจุดและความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม 2. การสนับสนุนด้านวิชาการ เช่น การร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการตรวจติดตามโรคปะการังแถบเหลืองบริเวณหมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร, การร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีในการให้บริการวิชาการเรื่ององค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพต่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ณ วนอุทยานเขาแหลมสิงห์ และการร่วมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่โครงการฯ กับสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. การช่วยเหลือกันด้วยทรัพยากรที่มี เช่น ชุมชนได้รับการสนับสนุนทุ่นจากทช. เพื่อทำแนวกั้นเขตอนุรักษ์, มูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจากทัพเรือภาคที่ 1 ในการขนส่งอุปกรณ์เพื่อการดำเนินโครงการฯ และการเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะชายฝั่งและใต้ทะเลที่จัดโดยสมาชิกเครือข่าย 4. การประชาสัมพันธ์โครงการ เช่น การรับเชิญเข้าร่วมเสวนาในการสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนครั้งที่ 1 ที่เกาะเต่า เป็นต้น
“ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า เอจีซี วีนิไทยจะยังคงมองหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน มิใช่เพื่อทุกคนในวันนี้เท่านั้นหากแต่เพื่อลูกหลานของเราในวันข้างหน้าด้วย ผมถือว่าความยั่งยืนมิใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนครับ” นายโทโมทากะ โยชิคาวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอจีซี วีนิไทย กล่าวยืนยัน
“ตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปีของการเดินทางของมูลนิธิรักษ์ปะการัง ในความอุปถัมภ์ของบมจ.เอจีซี วีนิไทย ที่ได้ดำเนินงานด้านการฟื้นฟูปะการังมาไกลจนถึงจุดนี้ได้นั้น มูลนิธิฯ รู้สึกซาบซึ้งในความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพันธมิตรทุกภาคส่วนซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวเดินต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะจับมือกันให้แน่นยิ่งกว่าเดิมเพื่อขยายผลการดำเนินงานให้ก่อเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่ลูกหลานและโลกใบนี้อย่างแท้จริง” นายประสาน แสงไพบูลย์ ประธานมูลนิธิรักษ์ปะการังฯ กล่าว
“ผมเห็นว่าในขณะที่ผู้คนทั่วโลกมีความห่วงกังวลต่อการปกป้องสภาพแวดล้อม นี่คือโอกาสของโครงการฯ ที่จะได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและสังคมเป็นอย่างดี ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า เอจีซี วีนิไทยจะยังคงมองหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน มิใช่เพื่อทุกคนในวันนี้เท่านั้นหากแต่เพื่อลูกหลานของเราในวันข้างหน้าด้วย ผมถือว่าความยั่งยืนมิใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน นี่คือหลักการของผมครับ” นายโทโมทากะ โยชิคาวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น