นครนายก, 7 ธันวาคม 2566 - หัวเว่ย ยูเนสโก และกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในโครงการการศึกษาสีเขียว หรือ ‘Green Education Initiative’ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้เยาวชนและชุมชนทั่วประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และผลักดันให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยโครงการการศึกษาสีเขียวนี้ครอบคลุม 3 ประเด็น ได้แก่
· โรงเรียนสีเขียว มุ่งส่งเสริมการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ พลังงานสะอาด การผลิตพลังงานชีวมวล และการจัดการของเสียในสถาบันการศึกษา
· ทักษะสีเขียว มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับนักเรียน ครูผู้สอนและนักการศึกษา รวมไปถึงชุมชน เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดด้านความรับผิดชอบและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
· ชุมชนสีเขียว การสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากภายในโรงเรียน
ภายใต้โครงการ TECH4ALL เพื่อขับเคลื่อนโลกดิจิทัลที่ยั่งยืนและเท่าเทียมสำหรับทุกคน หัวเว่ย และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ร่วมกันวางแผนพัฒนาโครงการสีเขียวและโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นดังกล่าว พร้อมร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในประเทศไทย โครงการดังกล่าวครอบคลุมไปถึงการจัดหาเทคโนโลยีพลังงานดิจิทัลให้กับโรงเรียน การฝึกอบรมด้านพลังงานสีเขียวให้กับนักเรียน และ
รถดิจิทัลเพื่อสังคมซึ่งเป็นโครงการที่หัวเว่ยจัดขึ้นเพื่อฝึกทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและให้ความรู้ด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชนบทและพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศไทย
ยูเนสโก ให้คำจำกัดความ ‘greening’ ในบริบทของการศึกษาสีเขียว ว่าหมายถึงการปฏิบัติตามความรู้และแนวทางที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อคนในรุ่นปัจจุบันและอนาคต
คุณคิริโมเก โดรลเล็ตต์ (Kirimoke Drollett) หัวหน้าสำนักงานบริหาร สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีเปิดโครงการ Green Education Initiative ที่จังหวัดนครนายก ว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) คือหัวใจหลัก และยังมีภารกิจมากมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ ไม่มีใครสามารถทำงานเหล่านี้คนเดียวได้แม้แต่องค์การสหประชาชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุไปสู่เป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือจากทุกฝ่ายผ่านโครงการการศึกษาสีเขียวนี้จะช่วยให้เราขับเคลื่อนแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เร็วยิ่งขึ้น ยูเนสโกมีความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนประเทศไทยในด้านการศึกษาสีเขียวและขับเคลื่อนอนาคตที่สดใสให้กับทุกคน”
ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2573 พร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น การเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุน ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์อยู่ที่ 2,633 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 14,864 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2580
โครงการการศึกษาสีเขียว ‘Green Education Initiative’ จึงสะท้อนถึงพันธกิจร่วมกันในการเสริมพลังให้เยาวชน ชุมชน และผู้มีร่วมร่วมในทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ จะเดินหน้าส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตให้กับผู้คนในทุกช่วงวัย พร้อมขับเคลื่อนโครงการให้เข้าถึงทุกชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากโครงการมากที่สุด
ดร. ชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร และผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ “ผมมีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับยูเนสโก และหัวเว่ย ประเทศไทย ในการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือสนับสนุนโรงเรียนสีเขียวและการศึกษาสีเขียวในประเทศไทย เพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนและประชาชนอย่างทั่วถึง โดยใช้รถดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี และยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ นอกเหนือจากการมุ่งเน้นพัฒนาทักษะดิจิทัล หัวเว่ยและยูเนสโกยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน โดยการบรรจุองค์ความรู้ด้านการรับมือกับสภาวะโลกร้อน อาทิ การมีแหล่งน้ำสะอาดพร้อมใช้ พลังงานสะอาด การผลิตพลังงานชีวมวล และการจัดการขยะและของเหลือทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ให้โอกาสกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้เป็นหน่วยงานนำร่องในพื้นที่ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายกเป็นแห่งแรกของไทย”
ในขณะเดียวกัน หัวเว่ย พร้อมที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและโซลูชันสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมมาสนับสนุนโครงการการศึกษาสีเขียว ‘Green Education Initiative’
นายเบนจามิน หลิว (Benjamin Liu) ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า “ภายใต้ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเดินหน้าสู่อนาคตที่คาร์บอนต่ำและมีการเชื่อมต่อทางดิจิทัลโดยสมบูรณ์ หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัลที่ยั่งยืนและเท่าเทียมมาตลอด 24 ปี หัวเว่ย ได้ติดตั้งอินเวอร์เตอร์ ขนาดกำลังผลิตรวมมากกว่า 5 กิกะวัตต์ ให้กับภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนทั่วประเทศไทย สำหรับโครงการการศึกษาสีเขียวนี้ หัวเว่ยจะนำนวัตกรรมด้านโซลูชันพลังงานดิจิทัลและประสบการณ์ด้านการผลิตพลังงานแสดงอาทิตย์มาใช้ในการฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ด้านพลังงานสีเขียวให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก กระทรวงศึกษาธิการ และพันธมิตรของเรา หัวเว่ยพร้อมที่จะเดินหน้าสนับสนุนยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะวิศวกรพลังงานสีเขียวให้กับประเทศ”
พิธีเปิดโครงการการศึกษาสีเขียว ‘Green Education Initiative’ ได้รับเกียรติจากตัวแทนจากสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ พันธมิตรหัวเว่ย ครูและนักการศึกษา นักเรียน และสมาชิกในชุมชน รวมกว่า 150 เข้าร่วมในพิธี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น