วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ธนาคารกรุงเทพ จัดงาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” ชวนช้อปสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากผู้ผลิต หนุนบรรยากาศใช้จ่ายปลายปีคึกคัก ย้ำบทบาท ‘เพื่อนคู่คิด’ แนะใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming หนุนภาคเกษตรไทยสู่สากล

 


ธนาคารกรุงเทพ เดินหน้าจัดมหกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตรส่งท้ายปี ในงาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” คัดสรรสินค้าเกษตรไทยคุณภาพส่งออก ส่งตรงจาก 56 ร้านค้า ทั้งสินค้าเกษตรนวัตกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ ให้เลือกช้อปหรือซื้อเป็นของขวัญแก่คนรัก เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คาดมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเสริมเกราะความรู้เกษตรกรไทย ยกระดับสู่ Smart Farming ในงานสัมมนาพิเศษ “วันเกษตรก้าวหน้า’66” ณ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม วันศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม นี้ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป 

 

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตร “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีนำสมัย การจัดการเหมาะสม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรและผู้ผลิตเข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็น 56 ร้านค้า แบ่งเป็นโซนสินค้า เกษตรนวัตกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเป็นสินค้าคุณภาพส่งออก นำมาจำหน่ายในราคาพิเศษ เช่น กล้วยไม้และไม้ประดับนานาพันธุ์,เครื่องประดับจากดอกกล้วยไม้, ผลิตภัณฑ์จากแมคคาเดเมียสตอร์เบอร์รี่สดและแปรรูปผักสลัดที่ปลูกจาก Plant Factory, ขนมปังผักเคลส้มสายน้ำผึ้งเมล่อนน้ำผึ้งคุณภาพดี, มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพส่งออกส้มโอทับทิมสยามส้มโอขาวน้ำผึ้งส้มโอทองดี, ปลากะพงสองน้ำพร้อมรับประทานไส้อั่วเผาเตาหลวงไข่ไก่คุณภาพคัดพิเศษ, เต้าหู้ผักผลิตภัณฑ์จากน้ำมันอะโวคาโดปลาส้มผลิตภัณฑ์จากนมแพะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์และผลไม้ รวมทั้งอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 2,000 คน มีเม็ดเงินสะพัดตลอดทั้งงานไม่ต่ำว่า 3 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้ดำเนินโครงการเกษตรก้าวหน้า ตั้งแต่ปี 2542 ในสมัย อดีตท่านประธานกรรมการบริหาร คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  โดยมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรของไทย โดยในยุคแรก ธนาคารมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดีมากยิ่งขึ้น ยุคที่ 2 สนับสนุนการสร้างเครือข่าย ใน ส่วนหลัก คือ เครือข่ายด้านการตลาด และ เครือข่ายด้านการผลิต โดยธนาคารยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการ Matching Business ระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออก ทั้งในรูปแบบของการจัดนิทรรศการผลงาน และเปิดโอกาสให้เกษตรก้าวหน้า นำผลผลิตมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ในงาน “วันเกษตรก้าวหน้า” อีกด้วย และปัจจุบัน คือ ยุคที่ 3 โดยธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการผลักดันให้เกษตรกรไทย ก้าวสู่การเป็น Smart Farming หรือ การทำเกษตรแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มคุณภาพ ปริมาณของผลิตผลทางการเกษตร และยังช่วยลดต้นทุนในระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกอีกด้วย  

“ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีเกษตรกรกว่า 7.7 ล้านครัวเรือน เป็นพื้นฐานรายได้ที่สำคัญของไทย ดังนั้นภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยตลอด 24 ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคการเกษตร ไม่เพียงแต่บริการทางการเงิน แต่เรายังต้องการสนับสนุนให้ภาคเกษตรมีการปรับตัว และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็นยุคที่ หรือ ยุคของนวัตกรรม กระบวนการที่จะพัฒนาต่อไปขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ธนาคารกรุงเทพ ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farming  ก็ดี Precision Farming ก็ดี ตลอดจนถึงเรื่องของการใช้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างครบวงจร (Zero Waste) ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น”  นายพิเชฐ กล่าว

 

ทั้งนี้ภายในงาน ธนาคารกรุงเทพ ยังได้จัดพิธีมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2566” เพื่อเชิดชูเกียรติ และส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปรับตัวและเกิดการพัฒนาโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิตมากขึ้น แบ่งเป็น ประเภทรางวัล ประกอบด้วย

 

  • รางวัลเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น ได้แก่ นายสุวิทย์ ไตรโชค บริษัท นาวิต้าฟาร์ม จำกัด อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าของฟาร์มเมล่อน เกษตรกรเจ้าแรกๆ ที่คิดค้นพัฒนาเทคนิควิธีการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น ระดับสินค้าพรีเมียม ด้วยการปรับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี IOT ควบคุมการผลิต จนสามารถส่งขายทั้งในและต่างประเทศตลอดปีแบบไร้โรงเรือน
  • รางวัลผู้บริหารซัพพลายทางการเกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุนทร ศรีทวี บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผักและผลไม้สด เพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ วางโครงสร้างการจัดการห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร (Supply Chain) ไว้เป็นระบบอย่างเข้มแข็ง สามารถพัฒนาควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทางการปลูกไปจนถึงส่งออก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • รางวัลเกษตรรุ่นใหม่ดีเด่น ได้แก่ นายฐิติพงษ์ จงหมายลักษณ์  บริษัท เชียงใหม่ เฟรช โปรดักส์ จำกัด อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่และทายาทธุรกิจรุ่น 2 ของสวนส้มจงลักษณ์  ต่อยอดธุรกิจครอบครัวพัฒนาคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุนการจัดการในแปลงด้วยเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาช่องทางตลาดสมัยใหม่ ตอบสนองความต้องการสินค้าทั่วประเทศ

นายสุวิทย์ ไตรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาวิต้าฟาร์ม จำกัด อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ‘ฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย’ ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับรางวัล เกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566 กล่าวว่า ตนมีความสนใจที่จะนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการปลูกเมล่อน ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะเคยได้ดูงานในประเทศอิสราเอล แต่ขณะนั้นเทคโนโลยีในไทยยังไม่สามารถทำได้สมบูรณ์ กระทั่งในปัจจุบันได้ร่วมมือกับ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPPA) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการสนับสนุนเงินทุนและอบรมเสริมความรู้จากธนาคารกรุงเทพ จนสามารถพัฒนา ‘ตู้คอนโทรลอัจฉริยะ’ ได้สำเร็จ โดยสามารถวัดความชื้น อุณหภูมิ และธาตุอาหารในดินได้อย่างครบถ้วน และแสดงผลเรียลไทม์ผ่านมือถือ รวมทั้งยังสั่งรดน้ำ หรือใส่ปุ๋ย ได้ผ่านมือถือในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของพืชได้ภายในระบบเดียว จากการทดลองใช้มากว่า 4 ปี พบว่า ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้นและมีผลเมล่อนคุณภาพเกรดเอ ในสัดส่วนสูงถึง 90% อย่างสม่ำเสมอจึงทำให้ขายได้ราคา เป็นที่ต้องการของตลาด

 

เกษตรกรไทยหลายคนเริ่มสนใจการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ แต่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรทั้งหมดในระบบ และส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจและนำไปใช้ไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคือภาครัฐจะต้องมาสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรก้าวข้ามการทำเกษตรกรแบบเดิมไป สู่การทำเกษตรแบบดิจิทัลเพราะตอนนี้สินค้าเกษตรไทยต้องเอาคุณภาพเข้าสู้ เจาะกลุ่มตลาดลูกค้าพรีเมียมที่ได้ราคาสูง หากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่าได้ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ทั้งภาครัฐและเกษตรกรไทยได้เห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ ” นายสุวิทย์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ปีนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่จะจัดกิจกรรมสัมมนา “เกษตรก้าวหน้า 2566” เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างทันท่วงที ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี กฎระเบียบการค้าโลกที่เข้มข้นขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภค ผ่านหัวข้อสัมมนา “ทิศทางเกษตรไทยในยุคดิจิตอลเทคโนโลยี” โดย ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวข้อ “ดาวเทียม THEOS-กับการพัฒนาภาคการเกษตร” โดย ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หัวข้อ “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรับภัยแล้ง” โดย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หัวข้อ “ภาคเกษตรไทยกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเสวนา  ‘3 สุดยอด เกษตรกรก้าวหน้า ปี 2566  โดย ผู้ได้รับรางวัลเกษตรก้าวหน้าปี 2566 ธนาคารกรุงเทพ  นายสุวิทย์ ไตรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด  นายสุนทร ศรีทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด  นายฐิติพงษ์ จงหมายลักษณ์  กรรมการบริษัท บริษัท เชียงใหม่เฟรช โปรดักส์ จำกัด

 

สำหรับผู้สนใจ สามารถร่วมอุดหนุนสินค้าเกษตรคุณภาพ ในงาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” ในวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 ณ ลานด้านหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม โดยบูธร้านค้าเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.3น. และ ช่วงงานสัมมนา “เกษตรก้าวหน้า 2566 เวลา 12.15 – 16.0น. ณ ห้องโกมุท ชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที ลีสซิ่ง จับมือ ศรีประจันต์วัฒนยนต์ จัดอบรม "ขับขี่ปลอดภัย ร่วมใจลดมลพิษ" โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี

  บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด  ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้ อรถจักรยานยนต์  ในเครือ เอ็ม บี เค  เล็งเห็นความสำคัญของการขับขี่ รถบนท้องถนนอย่างปลอ...