บดินทร์ สิงหาศัพท์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังทั้งของไทยและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีทางแก้ไขเพื่อนำไปสู่การบรรเทาหรือหยุดปัญหาอย่างยั่งยืน แม้จะมีข้อตกลงกันในภูมิภาคก็ตาม แต่ประเทศสมาชิกหลายชาติละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ขณะที่รัฐบาลไทยที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบริหารประเทศก็ยังไม่มีชุดใดจริงจังกับการแก้ปัญหานี้ ส่งผลให้ปี 2566 เป็นปีที่ทางภาคเหนือของประเทศถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองและหมอกควัน เป็นมลพิษร้ายทำลายสุขภาพประชาชนและเศรษฐกิจไทย
สำหรับปัญหาฝุ่นและหมอกควันพิษทางภาคเหนือ มีการพุ่งเป้าไปที่ภาคการเกษตรว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาและ สปป.ลาว ข้ามแดนมา ที่พรรคการเมืองน้อย-ใหญ่ ยกเรื่องนี้มาทำคะแนนนิยมกันอย่างกว้างขวาง อ้างจากการขยายการลงทุนของกลุ่มทุนไทยไปเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศดังกล่าว โดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์ทราบได้ มีแต่คำพูดเอาดีเขาตัวเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแล้ว ชาวบ้านถามหากันให้เซ็งแซ่ว่า “หายศีรษะ” ไปไหน
จากความเชื่อของนักการเมือง แนวทางการแก้ปัญหาจึงคิดเพียงด้านเดียวขาดความรู้ ขาดข้อเท็จจริง และไม่ผ่านการคิดแบบบูรณาการ เช่น หยุดนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือต้องนำเข้าจากบริษัทที่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่ามาจากแหล่งที่ไม่มีการเผาตอซังหรือบุกรุกป่า ตรวจสอบย้อนกลับได้ไปจนถึงแหล่งผลิต ตลอดจนเจรจาในระดับภูมิภาคเพื่อยังคับใช้ข้อตกลงให้เกิดผลในทางปฏิบัติเรื่องฝุ่นควันข้ามแดน ซึ่ง 2 แนวทางหลังมีโอกาสจะเกิดขึ้นถ้าแต่ละฝ่ายมีความจริงใจ ส่วนหยุดนำเข้า..ถ้าผลผลิตในประเทศพอจะนำเข้ามาเพื่ออะไร ความจริง คือ ผลิตไม่พอขาดอยู่ 3 ล้านตัน ซึ่งมีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตภาคปศุสัตว์ที่มีเกษตรกรนับ 100,000 ครอบครัวและความมั่นคงทางอาหารของไทย สำหรับผู้บริโภคคนไทยมากกว่า 66 ล้านคน และยังส่งออกไปเลี้ยงประชากรโลกด้วย
จริงอยู่ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมา พื้นที่รัฐฉานมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก แม้ไม่ส่งออกมาไทยเข้าก็ส่งไปจีนเป็นหลักอยู่แล้ว ไทยเพียงรถขบวนท้ายๆ ที่เข้าไปส่งเสริมการเพาะปลูกในเมียนมาเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดเท่านั้น และเป็นการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ เน้นปลูกบนพื้นราบและใช้การไถกลบโดยไม่เผาตอซัง มาตรฐานที่ถูกใช้ในประเทศไทยและความรู้ถูกถ่ายทอดให้กับชนเผ่า เพื่อรักษาทรัพยากรของประเทศตามแนวทางความยั่งยืน ซึ่งการเข้าไปส่งเสริมอยู่ในสายตาของรัฐบาลเมียนมาทั้งสิ้น..นักการเมืองควรขออนุญาตรัฐบาลทหารเข้าไปดูให้ประจักษ์แก่สายตา อย่าแอบเข้าไปดูเองเจาะจงเฉพาะพื้นที่ที่ไกลปืนเที่ยง
หากติดตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นจุดความร้อนของไทยใน 17 จังหวัดภาคเหนือนั้น ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนจุดความร้อนในภาคการเกษตรใหญ่ที่สุดคือ นาข้าว ...นอกจากนี้ ชาวบ้านในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ยังให้ข้อมูลว่า ปีนี้มีการสะสมของใบไม้และวัสดุต่างๆ มากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับอากาศแล้งมาก และการลดระยะเวลา “ชิงเผา” ให้สั้นลง ทำให้ชาวบ้านต้องระดมการเผาวัสดุทางการเกษตรพร้อมกัน ทำให้ปีนี้หมอกควันมีปริมาณมากตามไปด้วย ที่สำคัญยังมีการลักลอบเผาป่า เพื่อเก็บเห็ดและของป่าของบ้านมากขึ้นด้วย
เมื่อทราบข้อเท็จจริงว่า “นาข้าว” คือต้นตอหลักทางการเกษตรที่มีการเผา รัฐบาลหาเทคโนโลยีหรือปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยให้ชาวนาลดการเผาและส่งเสริมการวิธีการเพาะปลูกแบบยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพืชสวนพืชไร่ เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ ลดต้นทุนการผลิต หรือการทำ “Zoning” พื้นที่เพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ให้ง่ายต่อการควบคุมและบริหารจัดการ สร้างความเชื่อมั่นให้เดินหน้าด้วยวิธีการที่ถูกต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เกิดเป็นผลดีกับห่วงโซ่การผลิตของไทย การบริหารจัดการแบบบูรณา การระดมสมองจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาโดยอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการลงพื้นที่ตรวจสอบ จะช่วยให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถูกแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่วนเวียนเกิดขึ้นซ้ำซาก จนทำลายห่วงโซ่การผลิตและความมั่นคงทางอาหารของไทย./
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น