ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าในการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัทฯ ได้จัดตั้ง “Digital Team” ด้วยการรวมบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเทคโนโลยีและมีศักยภาพในด้านดิจิทัลจากหน่วยธุรกิจต่างๆ ของบริษัทฯ โดย Young Talent กลุ่มนี้จะมาทำงานเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนลูกค้าของฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ให้ขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าไปสู่ความเป็นดิจิทัลตามทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ดร. วรวุฒิ วรุตตมพรสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Digital Team ของฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ จะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการไฟฟ้าโดยให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะในภาพรวม ตลอดจนช่วยวาง Roadmap หรือ แผนการดำเนินงาน ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้กับองค์กร ผ่านกระบวนการศึกษาและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงปัญหา ความจำเป็น และความเร่งด่วนของลูกค้าแต่ละรายที่แตกต่างกัน เพื่อออกแบบวางแนวทางแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาแต่ละองค์กรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
“การจัดตั้ง Digital Team มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนลูกค้าของเราในการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลบนพื้นฐานความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี (Partnership) โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน ความร่วมมือระหว่างกัน (Collaboration) ผ่านหัวใจสำคัญคือ การเรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-Learning and Co-Creation) เพื่อช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้ออกมาเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางฝั่งลูกค้าและฝั่งฮิตาชิด้วย” ดร.วรวุฒิ กล่าว
สำหรับการทำงานนั้น ดร. วรวุฒิอธิบายว่า เนื่องจากดิจิทัลมีความหมายกว้าง ความสำคัญของทีมดิจิทัลของฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย คือจะช่วยหาโซลูชั่นที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละราย และทำการปิดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อกำหนดแผนงานนำไปสู่การปฏิบัติ โดยอาจทำเป็นระยะต่างๆ ตามความพร้อมและความเหมาะสม ซึ่งจะนำเสนอทั้งในรูปแบบการบริการผลิตภัณฑ์สินค้าและการบริการให้คำปรึกษา โดยในการทำงานนอกจากจะมีทีมดิจิทัลของฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย แล้ว ทีมงานยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทีมผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทแม่ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี องค์ความรู้ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
มุ่งดิจิทัลตอบโจทย์ทิศทางพลังงานโลก
ดร.วรวุฒิกล่าวว่าปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานได้นำระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกิจการมากขึ้น นอกจากนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมายังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น โดยในภาคพลังงาน แม้จะมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการควบคุมระบบไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ชัดเจนขึ้นขณะนี้ คือ มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามามากขึ้นและก้าวหน้ากว่าทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันได้มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ลงไปถึงระดับอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้า เช่น มีการนำระบบ Machine Learning & Artificial Intelligence (AI) มีการใช้ Fiber Optic ในการส่งสัญญาณ รวมถึงระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ สำหรับการตรวจวัดและพยากรณ์สุขภาพของอุปกรณ์ แทนที่จะใช้อุปกรณ์ทั่วไป โดยมีการนำมาติดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวนสถานีไฟฟ้าที่เป็น Digital Substation มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคพลังงาน
ดร. วรวุฒิขยายความเพิ่มเติมว่า บางองค์กรได้ดำเนินการโครงการนำร่องด้านดิจิทัลร่วมกับฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่ได้พัฒนาโครงการ Digital Substation โดยมีการดำเนินการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่หม้อแปลง อุปกรณ์วัดระดับแก๊ส อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ และอุปกรณ์การเปิด-ปิดต่างๆ รวมถึงโครงการ Microgrid ที่ อ. เบตง จ.ยะลา ซึ่งจากการติดตั้งระบบดิจิทัล ทำให้สามารถประมวลผลอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงไฟฟ้าเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น อุปกรณ์มีประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร มีอายุการใช้งานเหลือยาวนานเพียงใด มีความจำเป็นต้องทำการบำรุงรักษาอย่างไร หรือเมื่อใด จึงทำให้สามารถคาดการณ์ ป้องกันเหตุไม่คาดคิดได้ก่อนเวลาที่จะเกิดปัญหา และสามารถตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที ซึ่งนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้น และผลประกอบการทางธุรกิจที่เติบโตขึ้น
“มีการคาดการณ์ว่าไฟฟ้าจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบพลังงานในอนาคต โดยแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบันในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถานีไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าเช่นกัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเติบโตขึ้นดังกล่าว ดังนั้น ดิจิทัล จึงเป็นโซลูชั่นที่เข้ามาจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ทันเวลา” ดร. วรวุฒิ กล่าว
โดยนอกจากการนำดิจิทัลมาใช้เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นแล้ว ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV และการจัดการสถานีชาร์จไฟฟ้า (Charging Station) ก็มีการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางฮิตาชิเองก็มีโซลูชั่นในส่วนนี้เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า
Digital Team หนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero
ประเทศไทยได้มีการประกาศเป้าหมายสำคัญหลังเข้าร่วมประชุม COP26 คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งในภาคพลังงานรัฐบาลกำหนดทิศทางโดยมีแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนน EV ผลักดันนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงลด Carbon Footprint ในการผลิตพลังงานและการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero จะต้องมี Digitalization เข้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญด้วย
ดร.วรวุฒิ อธิบายว่า การสนับสนุนธุรกิจไฟฟ้าให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล เท่ากับช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าสามารถดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ เช่น หากมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ตัวอุปกรณ์ ก็สามารถประมวลผลทราบสถานการณ์ของตัวอุปกรณ์ สภาพ และเงื่อนไขต่างๆของตัวอุปกรณ์ได้ โดยสามารถยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ ซึ่งเราอาจไม่จำเป็นต้องทำการบำรุงรักษามากเกินความจำเป็น เพราะสามารถตรวจวิเคราะห์การใช้งานได้ว่าสามารถใช้ได้ต่อเนื่องอีกยาวนานเท่าใด ซึ่งการใช้งานได้ต่อเนื่องนานขึ้นและจัดการได้มากขึ้น เท่ากับลดเวลาและลดความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ ทำให้การใช้ Material ต่างๆ น้อยลง สิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยลง นอกจากนั้น ระบบดิจิทัล ยังช่วยลดการใช้กำลังคนลงได้ ทำให้ลดความจำเป็นในการเคลื่อนย้ายคนและการเดินทางไปที่ไซต์งานเพื่อแก้ปัญหา จึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากยานพาหนะ และ Footprint ต่างๆ ใน Value Chain ทั้งหมดก็ลดลงด้วย
“การที่ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย มี Digital Team เป็นทีมเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต” ดร.วรวุฒิกล่าวสรุป
ติดต่อทีมดิจิทัลของบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัดได้ที่อีเมลล์ : th-digitalteam@hitachienergy.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น