ทีมปฏิบัติการเชิงรุกและบีโอไอ เร่งเครื่องดึงการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและวางรากฐานเศรษฐกิจไทย พร้อมโชว์ผลงานดึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เลือกไทยเป็นฐานขยายการลงทุน โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมยอดยื่นขอบีโอไอกว่า 6 แสนล้านบาท ในช่วง 3 ปี พร้อมต่อยอดยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน
หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทีมปฏิบัติการเชิงรุกได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “Better and Green Thailand 2030” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างตำแหน่งงานใหม่ 625,000 อัตรา และเพิ่มจีดีพีของประเทศอีก 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการริเริ่มออกวีซ่าประเภทใหม่สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident หรือ LTR Visa) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตได้
“ประเทศไทยมีเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2043 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทย รวมถึงเราเป็นฮับของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ที่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกเลือกใช้ไทยเป็นฐานผลิต เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GMW) เอสเอไอซี มอเตอร์ (MG) บีวายดี ออโต้ (BYD) รวมถึงฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมมือกับ ปตท. เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัล มีการลงทุนขนาดใหญ่จาก Amazon Web Services (AWS) ผู้ให้บริการ Data Center และ Cloud Service ในระดับ Hyperscale อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยยกระดับทักษะและการเข้าถึงดิจิทัลของคนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการเดินทางไปชักจูงการลงทุนที่สหรัฐอเมริกา ได้พบกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เช่น Google, Western Digital, Analog Devices ล้วนมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น” หม่อมหลวงชโยทิต กล่าว
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่ ด้วยจุดแข็งของประเทศไทยทั้งด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง และศักยภาพการเป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้านของอาเซียน รวมถึงนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดิจิทัล และพลังงานสะอาด ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้เลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 5 อุตสาหกรรมนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 – 2565) รวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท ดังนี้
- อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า มียอดขอรับส่งเสริมรวม 46โครงการ มูลค่า 78,115 ล้านบาท ผู้ประกอบการรายสำคัญ เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์, เกรท วอลล์ มอเตอร์, เอสเอไอซี มอเตอร์ (เอ็มจี), บีวายดี ออโต้, ฮอริษอน พลัส, กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์, อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมดิจิทัล มียอดขอรับส่งเสริมรวม 420 โครงการ มูลค่า 64,481 ล้านบาท เช่น อะเมซอน ดาต้า เซอร์วิสเซส, อาลีบาบา คลาวด์, หัวเว่ย เทคโนโลยี่, เทเลเฮ้าส์, กลุ่มทรู เป็นต้น
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มียอดขอรับส่งเสริมรวม 92 โครงการ มูลค่า 113,990 ล้านบาท เช่น ซีเกท เทคโนโลยี, เวสเทิร์น ดิจิตอล, ไมโครชิพ เทคโนโลยี, แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์, แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์, โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์, ชิโคนี่ อีเลคทรอนิคส์
- อุตสาหกรรม BCG มียอดขอรับส่งเสริมรวม 1,911 โครงการ มูลค่า 305,170 ล้านบาท เช่น เนเชอร์เวิร์คส, จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล, พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม, พูแรค, เนสท์เล่, อายิโนะโมะโต๊ะ, สไปเบอร์, เอ็นวิคโค เป็นต้น
- อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มียอดขอรับส่งเสริมรวม 218 โครงการ มูลค่า 53,104 ล้านบาท เช่น เดอะสตูดิโอ พาร์ค, กันตนา สตูดิโอ, กราวิตี้ เกม เทค, แพนดอร่า โพรดักชั่น เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทข้ามชาติหลายรายได้ตัดสินใจเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ในประเทศไทย เช่น อโกดา, หัวเว่ย เทคโนโลยี่, อาร์เซลิก ฮิตาชิ, อายิโนะโมะโต๊ะ, นิสชิน ฟู้ดส์, อัลสตอม, โตโยต้า มอเตอร์, นิปปอนสตีล เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานหลักในการกำกับดูแลและให้บริการกับบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) เพื่อกระตุ้นให้บริษัทชั้นนำจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งบีโอไอได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งบริการช่องทางอำนวยความสะดวกออนไลน์สำหรับกิจการสำนักงานภูมิภาค (ระบบ HQ Biz Portal) โดยจะให้บริการไปพร้อมกับศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างครบวงจร ทั้งการจัดตั้งกิจการสำนักงานภูมิภาคและการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
สำหรับแผนการดึงลงทุนของบีโอไอในปีงบประมาณ 2566 ได้วางแผนจัดกิจกรรมเชิงรุกเจาะกลุ่มเป้าหมายกว่า 200 ครั้ง ทั้งการจัดคณะโรดโชว์จากส่วนกลางและสำนักงานบีโอไอ 16 แห่งทั่วโลก เพื่อเผยแพร่มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่และโอกาสการลงทุนในประเทศไทย การจัดสัมมนารายประเทศ รายอุตสาหกรรม การจับมือกับกลุ่มที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น ธนาคารใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา สมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตร และการเดินสายพบปะบริษัทสำคัญ โดยมีนักลงทุนเป้าหมายหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
นายนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยยกระดับไปสู่เศรษฐกิจใหม่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “Better and Green Thailand 2030” ของรัฐบาล โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการใช้พลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มียอดขอรับส่งเสริมในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น 958 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 71,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังส่งเสริมการกระจายการลงทุนให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น พื้นที่อีอีซี พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และเมืองต้นแบบ พื้นที่ 20 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ รวมถึงเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึงด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น