นรชาติ สรงอินทรีย์ ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์
ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของผู้เลี้ยงหมูไทย หลังเผชิญโรคระบาด ASF และต้องฝ่าฟันปัญหา “หมูเถื่อน” มาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ผลผลิตที่หายไปประมาณ 50% ทั้งแม่พันธุ์สุกรและหมูขุน ทำให้ราคาเนื้อหมูของไทยสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จากราคาหน้าฟาร์มเมื่อปี 2564 ที่เคยขายได้เฉลี่ย 70 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้อยู่ที่ 102 บาทต่อกิโลกรัม “หยุด” อย่าต่อว่าเกษตกรค้ากำไรเกินควร เพราะปัจจัยในตลาดโลกหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการผลิตขึ้นไป 30% ทั้งสองรายการ หนำซ้ำราคาน้ำมันที่ผันผวนไปในแนวสูงอีก ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรขยับสูงขึ้นไปเหนือ 100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นที่เรียบร้อย
โรคระบาด ASF ที่ภาครัฐยืนยันว่าคุมได้ แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่ตรวจพบโรคทำให้เกษตรกรไม่กล้านำหมูเข้าเลี้ยง หรือเลี้ยงก็ไม่เต็มที่เพราะเสี่ยงสูงหากติดโรค นั่นหมายถึงอาจจะต้องทำลายหมูทิ้งทั้งหมดเท่ากับลงทุนสูญเปล่า ที่สำคัญยังต้องผจญกับ “มารร้าย” ทำลายชาติ ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาทุบราคาหมูไทยและฟันกำไรจากส่วนต่างราคาช่วงหมูในประเทศขาดแคลน มีราคาสูงแต่หมูเถื่อนราคาถูกสุดเซ็กซี่เนื้อแดงขายที่ 135-140 บาทต่อกิโลกรัม เทียบราคาหมูไทยปลอดภัยกว่าที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม หมูเถื่อนยังแจกของแถมที่คนไทยมองไม่เห็นทั้งสารเร่งเนื้อแดง เชื้อรา โรคระบาดต่าง รวมทั้ง ASF หากติดโรคนี้เข้ามาแล้วแพร่กระจายเช่นที่ผ่าน พูดได้เลยว่า “หายนะ
จนถึงวันนี้ หมูเถื่อน ยังมีลักลอบเข้ามาให้เห็นต่อเนื่องเปลี่ยนช่องทางและวิธีการเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุม โดยเฉพาะขบวนการกองทัพมด เข้ามาตามชายแดนเพื่อนบ้าน ทั้งจากเวียดนาม กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย ล่าสุดเจ้าหน้าที่จับกุมที่อุบลราชธานี ลักลอบข้ามแม่น้ำโขงมา ได้ของกลาง 4,400 กิโลกรัม มูลค่า 1.1 ล้านบาท ก่อนหน้านี้สมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ชี้เบาะแสช่องทางนำเข้าหลักคือท่าเรือแหลมฉบัง ที่นำเข้ามาพักรอประมาณ 100 ตู้ แต่กรมศุลกากร ยังไม่ดำเนินการใดๆ และไม่แม้แต่ตรวจสอบ โดยให้เหตุผลว่าสินค้ายังไม่ได้แจ้งนำสินค้าออกจากท่าเรือ ซึ่งที่ผ่านมา สินค้าที่เคลียร์แล้วและลากไปส่งผู้สั่งนำเข้ากรมฯ ก็ไม่เคยตรวจจับได้ที่ขั้นตอนการเอ็กซ์เรย์ หรือ สแกนสินค้าแม้แต่ครั้งเดียว และในจำนวน 5 ครั้ง ที่กรมศุลกากรเป็นผู้นำจับ เป็นการจับกุมระหว่างการขนส่งนอกท่าเรือทั้งสิ้น (จากที่จับกุมทั้งหมด 28 ครั้ง ในปี 2565)
หากกรมศุลกากร ตระหนักรู้สักนิดว่า “หมูเถื่อน” ทำลายเศรษฐกิจไทย ไม่แพ้ยาเสพติดประเภทใดๆ ก็ควรสั่งการให้เร่งตรวจค้นหมูเถื่อนในคอนเทนเนอร์ที่นอนตีพุงมาแรมเดือนเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 15 วัน มานานมากแล้ว หากพบว่าเป็นหมูผิดกฎหมายต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อย่าอ่อนข้อ อย่ามองว่าเสียเวลา หรือให้หมูเถื่อนเล่นซ่อนแอบ เช่นที่ผ่านมา เพื่อสร้างโอกาสให้กับผลผลิตหมูไทยที่ปลอดโรค ปลอดภัย เพื่อคนไทย ทั้งยังสร้างโอกาสให้กับผู้เลี้ยงหมูไทยได้ขายหมูในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ไม่ใช่โดนกดราคาจาก “หมูขยะ” ที่ลักลอบเข้ามา “ขายถูกขายทิ้ง” ให้คนไทยสะสมสารพิษโดยไม่รู้ตัว ให้คิดว่าตัวท่านเป็นหนึ่งในผู้บริโภค
สังคมยังจับตาดู กรมศุลกากร ว่าเมื่อไหร่จึงจะเห็นว่าการปราบปรามหมูเถื่อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และจำเป็นต้องดำเนินการให้สิ้นซาก เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสุขอนามัยที่ดีของคนไทย การตรวจสอบคอนเทนเนอร์ 100 ตู้ (ตามที่ได้เบาะแส) อย่าเพียงสุ่มตรวจ เพราะอาจเล็ดลอดออกมาได้อีก อย่าทำลายความหวังของผู้เลี้ยงหมูไทยที่ต้องการเพิ่มผลผลิต ให้ได้ตามคำมันสัญญาที่ 17-18 ล้านตัว ในปี 2566 และจะนำผลผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ 18-19 ล้านตัวในปี 2567 ให้คนไทยมั่นใจว่าได้บริโภคเนื้อหมูปลอดโรค ปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ประชาชนเข้าถึงอาหารได้ในราคาที่สมเหตุผล เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนในชาติอย่างยั่งยืน./
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น