หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาพื้นที่ได้จัดมหกรรม“ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งเป็นมหกรรมอันทรงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ ด้วยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้เห็นโอกาสในการใช้ฐานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนในพื้นที่อันจะนำไปสู่การออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมและต่อยอดด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมหรือวิสาหกิจเชิงวัฒนธรรมสร้างงานสร้างรายได้ด้วยทุนทางศิลปะและวัฒนธรรม ในการจัดมหกรรมนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีนางสาวฐิติรัตน์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศาลเจ้าฉื่อปุยเนี้ยว-ขอเล่งเนี้ยว อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า งานมหกรรมฟื้นใจเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชนในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยยกระดับและฟื้นฟูย่านและทุนวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้ โดยมหกรรมในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในการร่วมกันสืบสานและเผยแพร่องค์ความรู้ภูมิปัญญาของผู้คนและพื้นที่และช่วยฟื้นฟูย่านเก่าแก่นี้ให้มีชีวิตชีวาและเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมตัวอย่างไว้ให้คงอยู่คู่กับประเทศต่อไป และยังกล่าวอีกว่า คุณค่าวัฒนธรรมเดิมของพนัสนิคมนั้นเป็นมรดกสำคัญที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวพนัสนิคมที่มีความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม สมควรจะได้รับการฟื้นฟูและสนับสนุนเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รับรู้มากยิ่งขึ้นไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักกัน แค่เพียงแต่ในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นโครงการสำคัญที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและฟื้นฟูย่านของตนเองให้เป็นที่รู้จักและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการนำเสนอย่านของตนเองสู่ระดับประเทศหรือแม้กระทั่งในระดับโลกต่อไป
มหกรรมฟื้นใจเมือง ณ พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ถือเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดมหกรรม โดยในระยะที่ผ่านมาหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ได้มีการพัฒนาพื้นที่เชิงวัฒนธรรมทั้งหมด 53 พื้นที่โดยมีพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมแล้วจำนวน 18 พื้นที่สามารถสร้างผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมประมาณ 6,000 ราย สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และการบริการเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นและมีการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมกว่า 757 ครั้ง ซึ่งงานในครั้งนี้เป็นหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ด้วยการนำเสนอทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของพนัสนิคมผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวพนัสนิคม จุดเด่นของงานนี้คือ “ดงดอกจักสาน” งานศิลปกรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกกลางภายในงาน โดยแนวคิดการสร้างผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการนำงานจักสานซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของเมืองพนัสนิคม มาประยุกต์และพัฒนาต่อยอดให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดไฮไลท์หนึ่งของงาน นอกเหนือจากนั้นยังมีซุ้มหน้ากากเอ็งกอ ที่เป็นงานศิลปะร่วมสมัยให้ผู้เข้าชมงานได้มาร่วมถ่ายรูป
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายประกอบด้วย โชว์พิเศษจากคณะเอ็งกอพนัสนิคม ศิลปะการแสดงของชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ร่วม 100 ปี กินลมชมหนังกลางแปลง เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนของเมืองพนัสนิคม การละเล่นทายโจ๊ก การละเล่นพื้นบ้านอันเก่าแก่ของเมืองพนัสนิคม การแสดงอันทรงเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ การบรรเลงเพลงของวงออเครสต้าโดยคุณสุกรี เจริญสุข พร้อมด้วยการแสดงร่วมกันของศาสตราจารย์ ปรีชา เถาทอง (วาดภาพ), คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ขับกลอน), และคุณธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (เป่าขลุ่ย) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแสดงอันทรงเกียรติเป็นอย่างยิ่งสำหรับพิธีเปิดมหกรรมในครั้งนี้ อีกทั้งการเขียนหน้าลายเอ็งกอ และการทำฝึกการทำงานจักสาน
และสืบเนื่องจากโครงการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร “การพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชนและการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีและสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี” จึงมีการจัดทำซุ้มพนัสเด็ดเจ็ดย่าน โดยแบ่งออกเป็น 7 ซุ้ม ซึ่งแต่ละซุ้มจะเป็นการแนะนำย่านเด็ดเมืองพนัสที่จะครอบคลุมของเด็ดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละมิติ ไม่ว่าจะเป็น หอพระพนัส งานจักสาน ร้านของฝาก ร้านอาหารสุดเด็ด กิจกรรมฝึกทักษะการทำตุ๊กตาเอ็งกอ และที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแนะนำจุดเช็คอินต่าง ๆ ของเมืองพนัสนิคมที่ชวนให้ทุกท่านไปร่วมท่องเที่ยวตามย่านต่าง ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น