Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัดทำ โครงการ ‘Women Made’ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทย ผ่านการพัฒนาทักษะและความรู้ในการทำธุรกิจ การใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการต่อยอดธุรกิจ ทั้งยังมุ่งทลายกรอบความคิดเดิม ๆ เกี่ยวกับ ‘บทบาททางเพศ’ และทลาย ‘ความกลัวของผู้หญิง’ ในสังคมไทย ที่เป็นอุปสรรคต่อการคว้าโอกาสทางธุรกิจและการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยโครงการ Women Made เปิดรับสมัครผู้ประกอบการหญิงเข้าร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่วันนี้ – 5 ตุลาคม 2565 ผ่านทาง https://forms.gle/EbbSYqBEDqtkUqTS8 และติดตามข่าวสารได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Sea Thailand
ในปัจจุบัน เราเห็นได้ว่าผู้หญิงให้ความสำคัญกับหน้าที่การงาน รวมถึงหันมาเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้ รายงาน Addressing Gender Barriers to Entrepreneurship and Leadership - Among girls and young women in South-East Asia จาก Unicef ได้เปิดเผยข้อมูลว่าเหตุผลที่ผู้หญิงไทยหันมาประกอบธุรกิจมักเกิดจาก ‘ความจำเป็น’ ในการหาเลี้ยงชีพและครอบครัว มากกว่าการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ ส่วนรายงาน Global Entrepreneurship Monitor พบว่า 70% ของผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยขาดความมั่นใจและกลัวความล้มเหลว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางธุรกิจและการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจของตน
นอกจากนี้ ผลสำรวจ Thai Digital Generation 2021 ‘ฉายภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19’ จาก Sea (Group) และ World Economic Forum ยังชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น กลุ่ม MSMEs กลุ่มผู้หญิงและแม่บ้านมีโอกาสที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่สูงที่สุด ซึ่งในมุมหนึ่ง ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าผู้หญิงไทยได้รับผลกระทบทางอาชีพเป็นอย่างมากในช่วงโควิด-19 แต่อีกมุมหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมี Resilience หรือสามารถล้มและลุกได้เร็ว อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่าผู้หญิงไทยเป็นกลุ่มที่พบปัญหาการลดลงของรายได้และสุขภาพจิตที่แย่ลงมากกว่ากลุ่มผู้ชาย นี่อาจสะท้อนความตึงเครียดของผู้หญิง ที่มักต้องทำงานนอกบ้านและทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วยในเวลาเดียวกัน โดยเหตุผลทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังถูกกดทับไว้ บางส่วนต้องล้มเลิกธุรกิจ และอีกหลาย ๆ คนไม่สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ Women Made ว่า “Sea (ประเทศไทย) เล็งเห็นว่าการสร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และสนามทดลองในการทำธุรกิจ ขยายธุรกิจ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจของตนนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีการเติบโตและยั่งยืน ช่วยเพิ่มประสบการณ์และส่งเสริมความมั่นใจ ทั้งในการเป็นนักธุรกิจ การตัดสินใจในฐานะผู้นำ กล้าล้มและกล้าลุก โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Women Made จะได้เข้าโปรแกรมการอบรมมาสเตอร์คลาสจาก Sea (ประเทศไทย) และ CEA ทั้งในด้านธุรกิจ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และด้านการใช้อีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจบนโลกออนไลน์ ด้วยเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถมอบความยืดหยุ่นให้กับผู้ประกอบการหญิงที่มีความรับผิดชอบทั้งในฐานะผู้ประกอบการและผู้ดูแลสมาชิกในครอบครัวได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะมีผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาสินค้าและบริการตลอดทั้งโครงการอีกด้วย”
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดการเติบโต คือ ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องตระหนักและปรับตัว พร้อมใช้ต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยรอบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเอื้อให้เกิดระบบนิเวศสร้างสรรค์อย่างแท้จริง โดย CEA เชื่อว่า ผู้ประกอบการหญิงที่ผ่านการบ่มเพาะในโครงการฯ จะสามารถใช้องค์ความรู้พัฒนาศักยภาพให้ตอบโจทย์ธุรกิจของตนเอง ในระดับประเทศหรือนานาชาติ รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเทศไทย โดยโครงการ “Women Made” นับเป็นอีกโครงการที่จะเป็นแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) สำหรับผู้ประกอบการหญิงที่มีไฟและต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถขยายสู่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้นได้จริง”
เกณฑ์ผู้การรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ
· ผู้ประกอบการหญิงที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์แล้ว และมีประสบการณ์การขายสินค้าและการดำเนินธุรกิจ
· มีความสนใจในการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์
· มีความต้องการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ e-commerce และต่อยอดการขายสินค้าบน Shopee
เกณฑ์การคัดเลือก
โครงการ Women Made จะทำการคัดเลือกผู้ประกอบการหญิง 10 แบรนด์ เพื่อเข้าร่วมโครงการ จาก 3 เกณฑ์ ดังนี้
· Business Performance: มีประสบการณ์การขายสินค้าหรือทำธุรกิจและสินค้ามีความโดดเด่น
· Online Scale Potential: ธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตบนโลกออนไลน์
· Social Impact: ธุรกิจมีความตั้งใจในการสร้างความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ผู้ประกอบการหญิงที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการจะได้รับ
· การเข้าร่วมอบรมมาสเตอร์คลาสพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ
· เงินสนับสนุนแบรนด์ในการพัฒนาสินค้าและทดลองขายบน Shopee แบรนด์ละ 25,000 บาท
· โอกาสการประชาสัมพันธ์แบรนด์กับสื่อพันธมิตรของโครงการฯ อย่าง The Cloud
ระยะเวลาโครงการ
· เปิดรับสมัคร: 5 กันยายน – 5 ตุลาคม 2565
· ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ: ภายใน 17 ตุลาคม 2565
· ร่วมอบรมมาสเตอร์คลาสและหารือแบบ One-on-one Consultation ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาสินค้า (ออนไลน์): พฤศจิกายน 2565
· วางขายสินค้าบนแพลตฟอร์มช้อปปี้: ธันวาคม 2565 – มกราคม 2566
ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Women Made สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ผ่านทาง https://forms.gle/EbbSYqBEDqtkUqTS8 และติดตามข่าวสารได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Sea Thailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น