ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่กับงาน Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย ประจำปี 2022 เวทีด้านนวัตกรรมระดับประเทศที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs บริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพด้านนวัตกรรม ผ่านการมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรม “7 Innovation Awards 2022” (เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์) จำนวน 38 ผลงาน จาก 180 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ จำนวน 18 ผลงาน และรางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม จำนวน 20 ผลงาน
สำหรับผลงานโดดเด่นที่คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเศรษฐกิจไปครอง ได้แก่ ผลงาน “EDEN” นวัตกรรมสารเคลือบยืดอายุผักและผลไม้จากธรรมชาติ โดย บริษัท อีเด็น อะกริเท็ค จำกัด และผลงานรางวัลชนะเลิศประเภทสังคม ได้แก่ “ธาอีส” แบรนด์ผลิตภัณฑ์หนังรีไซเคิลจากเศษหนังวัวเหลือทิ้ง โดย บริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด โดยเจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2ประเภทได้เปิดใจถึงความรู้สึกและบอกเล่าความเป็นนวัตกรรมของผลงาน พร้อมทิศทางการเติบโตในอนาคต
EDEN : ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา 3-4 เท่า ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
“ประเทศไทย เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรได้มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ปริมาณการส่งออกกลับไม่สูงอย่างที่คิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาการขนส่ง สินค้าเกษตรบางชนิดมีอายุการจัดเก็บสั้น ทำให้เกิดการสูญเสียระหว่างทาง หากแก้ช่องว่างในส่วนนี้ได้สินค้าเกษตรไทยจะส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมาก” คำบอกเล่าถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ จาก นรภัทร เผ่านิ่มมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเด็น อะกริเท็ค จำกัด
ทั้งนี้ EDEN เป็นสารเคลือบยืดอายุผักและผลไม้จากธรรมชาติ ที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้สดจากอายุเดิม ได้นานถึง 3 -4 เท่า เพียงพ่นหรือจุ่มสารเคลือบซึ่งประกอบด้วยแคลเซียม เซลลูโลส และสารสกัดจากผลไม้ ที่จะฟอร์มตัวเป็นชั้นฟิล์มระดับนาโนเพื่อปกป้องผิวผักและผลไม้ ช่วยชะลอการสูญเสียน้ำและการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ใช้ได้ทั้งบนเปลือกและเนื้อผักผลไม้ตัดแต่ง ให้คงความสดไว้ได้โดยไม่กระทบต่อรสสัมผัส ทั้งยังคงคุณค่าสารอาหารและได้รับมาตรฐานอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
สำหรับแผนธุรกิจในช่วง 3-5 ปี นรภัทร เปิดเผยว่า จะมุ่งพัฒนาใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.พัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น นำระบบอัตโนมัติมาใช้ ลดการพึ่งพาแรงงานที่อาจมีการปรับเปลี่ยนโยกย้าย พร้อมกับปรับแพ็กเก็จจิ้งให้มีขนาดเหมาะแก่การใช้งาน 2.ขยายกลุ่มลูกค้าสู่ตลาดต่างประเทศ เบื้องต้นมุ่งในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เช่น เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย 3.ขยายการใช้งานสู่กลุ่มเนื้อสัตว์
ธาอีส : ลดทิ้งเศษหนัง 70 ตันต่อปี ลดมลภาวะ สร้างรายได้สู่ชุมชน
ด้าน ธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด เล่าถึงที่มาของผลงานว่า ตนมีงานอดิเรกคือการทำเครื่องหนัง ทำให้มีเศษหนังเหลือทิ้งที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบกับเมื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเศษหนังเหลือทิ้ง พบว่า ในแต่ละปีจะมีเศษหนังเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสูงถึง 10,000 ตันต่อปี ถ้ากำจัดด้วยวิธีการเผาก็จะทำให้เกิดสารคาร์ซิโนเจน (Carcinogen) และสารไดออกซิน (Dioxins) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หรือเมื่อนำไปฝังกลบก็จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
จากจุดนี้เองจึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมว่าจะแปรรูปเศษหนังเหลือทิ้งเหล่านี้อย่างไร จนได้มาเป็นระบบรีไซเคิลแบบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งเป็นกระบวนการ Green Technology ที่ใช้พลังงานน้อยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดขยะใหม่สู่สังคม อีกทั้งยังได้วัสดุแผ่นหนังผืนใหม่ที่มีสีสันและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เช่น กระเป๋า และวัสดุสำหรับงานออกแบบตกแต่งภายใน เช่น ที่ใส่ปากกา โดยในแต่ละปีบริษัทรับซื้อเศษหนังจากโรงงานรวม 70 ตันต่อปี และก่อให้เกิดการจ้างงานฝีมือขึ้นรูปผลิตภัณฑ์และเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนมากกว่า 70 ครัวเรือน ปัจจุบันแผ่นหนังที่ผลิตได้จะถูกแปรรูปเป็นของใช้และของตกแต่งบ้าน อนาคตจะขยายสู่สินค้าประเภทวัสดุปิดผิว พร้อมขยายตลาดสู่ต่างประเทศ
จากการบอกเล่าถึงที่มาของผลงาน จากทั้ง 2 ผู้ประกอบการทำให้เห็นว่า ความใส่ใจและการมองเห็นช่องว่างในการพัฒนาก็สามารถนำมาสู่ “นวัตกรรม” ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน และหากได้รับการสนับ สนุนและส่งเสริมอย่างจริงจัง การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างสมบูรณ์ โดยมี นวัตกรรม เป็นฐานรากในการขับเคลื่อนจึงไม่ใช่เรื่องยาก
สำหรับงาน “Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย” และการประกาศผลรางวัล “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards” เป็นความร่วมมือของ 11 องค์กรเครือข่ายนวัตกรรมภาครัฐ-เอกชนระดับประเทศ ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.), สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA), หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อเฟ้นหาสินค้านวัตกรรมจาก SMEs และบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาและต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจนได้รับการยอมรับในระดับประเทศหรือในระดับโลก อีกทั้งเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ทดสอบศักยภาพของตนเองในการยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในระดับประเทศ ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ http://www.7innovationawards.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น