วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กลไกตลาด...เครื่องมือสำคัญถ่วงดุลปรับขึ้น-ลง ราคาสินค้าและอาหาร

 


ช่วงนี้ผู้บริโภคได้รับข่าวดีพอสมควรทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงได้เห็นต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลบ้าง หลังยืนแข็งแบบไม่สะทกสะท้านเกินกว่า 110 เหรียญ มาตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน ขณะที่รายงานของกรมการค้าภายใน ชี้ว่า ราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ ปัจจุบันปรับตัวลดลงมาบ้างแล้ว และอยู่ในสถานการณ์ที่ทรงตัว..ซึ่งไม่แน่ใจว่าประเด็นนี้ภาครัฐประเมินสถานการณ์เพื่อผลทางจิตวิทยาให้ผู้บริโภคผ่อนคลายจากความเครียด หลังกระแสกองทัพสินค้าเดินแถวขอปรับขึ้นราคา ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และภาระค่าครองชีพประชาชน แท้จริงกรมฯ ควรยกความดีให้กับกลไกตลาดที่ปรับสมดุลราคาระหว่างความต้องการกับการผลิต

 

หากเป็นข้อเท็จจริงตามที่กรมฯ สื่อสาร ว่าได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกร่วมกันในการกำหนดราคาสินค้าให้สอดคล้องกับราคาต้นทุนและช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่จะทยอยปรับราคาลดลงอีก...ชัวร์??? ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่สามารถตอบแทนเกษตรกรรายเล็กได้ จริงอยู่รายใหญ่มีต้นทุนที่แข่งขันได้และมีการบริหารจัดการที่ดี  หากรายเล็กชีวิตต้องเดินต่อไป ที่สำคัญหมูรอบใหม่เพิ่งจะนำเข้าเลี้ยงได้ไม่นาน ก็เรียกรายใหญ่มาหารือเพื่อดึงราคาให้ต่ำลง คือ ความร่วมมือที่เป็นไปได้ แต่รายเล็กจะอยู่ได้ไหมถ้าต้องขายขาดทุน เหมือนขาดอากาศหายใจ มาตรการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตหรืองบประมาณสนับสนุนให้เท่าไร??? 

 

ขอตั้งคำถามว่า อะไรคือราคาที่เป็นธรรมสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภค หลายคนอาจกังขา...ผู้บริโภคคือคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องรักษาไว้ ขณะนี้เกษตรกรเป็นคนกลุ่มน้อยแต่สวมหมวก 2 ใบ ในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิตที่มีแบกทั้งภาระค่าครองชีพและต้นทุนวัตถุดิบสูงไปพร้อมกัน เราควรสนับสนุนเกษตรกรหรือผู้บริโภค เลือกใครดี???

 

คำถามต่อเนื่อง คือ มาตรการควบคุมหรือตรึงราคา ช่วยแก้ปัญหาให้ภาคประชาชนได้จริงหรือ??? หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ เพราะทุกคนคือประชาชน หลักเศรษฐศาสาตร์พื้นฐานสำคัญ คือ กลไกตลาด ทำงานตามอุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) ที่วันนี้ที่บอกว่าคุมราคาอยู่ ตรึงราคาได้ แต่สินค้าหลายรายการปรับขึ้นไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะการตรวจตลาดเพ่งเล็งสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุมเป็นหลัก ตกหนักที่คนกลุ่มนี้  ทั้งที่รัฐผ่านประสบการณ์มาก็มาก เมื่อไม่ให้ขึ้นก็ปรับลดลงขนาดลง หนักเข้าต้องกักตุนเพราะขายก็ขาดทุนเพื่อ...เห็นอนาคตอยู่ตรงหน้า

 

ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ได้อ่านรายงานข่าวของสำนักหนึ่งที่อ้างถึง รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้แนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิชาการ ไว้อย่างน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับความสำคัญของกลไกตลาดว่า รัฐบาลควรเลิกคุมราคาอาหาร เพราะเป็นการทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารในการขยายการผลิต  จำเป็นต้องท่องสูตร "ราคาแพง ดีกว่าขาดตลาด" เพราะราคาสินค้าแพง เกษตรกรจะมีแรงจูงใจเพิ่มการผลิตอย่างรวดเร็วและราคาสินค้าก็จะลดลงเองตามธรรมชาติเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลยิ่งควบคุมราคาการผลิต เกษตรกรก็จะไม่มีแรงจูงใจเพราะทำแล้วไม่ได้กำไรและหยุดการผลิตในที่สุด ซึ่งสินค้าอุปโภคก็ไม่แตกต่างกัน...

 

ล่าสุด ผู้ผลิตไข่ไก่ประกาศราคาแนะนำไข่คละหน้าฟาร์มจาก 3.40 บาท/ฟอง เป็น 3.50 บาท/ฟอง มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน ปริมาณผลผลิต และราคาอาหารสัตว์ที่ปรับขึ้น กลไกตลาดเริ่มดีขึ้นกำลังซื้อเริ่มกลับมา แต่ยังไม่มาก แต่ครั้งนี้ ผู้บริโภครับรู้และเข้าใจถึงภาคต้นทุนวัตถุดิบของเกษตรกรมากขึ้น  และยืนยันที่จะกินเมนูไข่ต่อไป ขณะที่กรมการค้าภายใน ระบุว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการขึ้นตามกลไกตลาด เนื่องจากปริมาณไข่ในระบบปรับลดลง หากปรับราคาขึ้นไปแล้ว ขายไม่ได้ ก็จะปรับราคาลงมาเอง หากกำลังซื้อยังดี แต่ปริมาณไข่มีน้อย อาจปรับราคาเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด

 

ถ้าคำตอบของคำถามคาใจ คือ กลไกตลาด ก็อยากให้เครื่องมือนี้ทำงานให้สมบูรณ์สักครั้ง โดยรัฐเป็นกรรมการอยู่สนามพร้อมเป่านกหวีด หากธรรมชาติของกลไกตลาดทำงานผิดพลาด ก็สามารถยกเลิกกับไปใช้มาตรการคุมเข้มได้ แต่ถ้าราคาสินค้าปรับขึ้น-ลง ตามกลไกต้องปล่อยไหลให้ฟันเฟืองทำงานให้ครบลูป ก็น่าจะนำมาปฏิบัติได้...ขอเชียร์กลไหตลาด 100%

 

หันมาดูราคาเนื้อสัตว์ เช่นราคาสุกรหน้าฟาร์มยืน 100 มาเป็นพระที่ 11 แล้ว ขณะที่ราคาเนื้อแดงที่ตลาดสดปรับลดลงจาก 200 บาท/กก. เหลือประมาณ 180-190 บาท/กก. เพราะความต้องการลดลง ส่วนเนื้อไก่หน้าฟาร์ม 40 บาท/กก. ราคาเนื้อหน้าอกที่เคยสูงสุด 100 บาท/กก วันนี้เหลือ 85-90 บาท/กก. เพราะส่งออกลดลง เห็นชัดว่าเครื่องมือสำคัญในการถ่วงดุลราคาสินค้าคือ กลไกตลาด” ความต้องการมาก สินค้าน้อยราคาสูง แต่เมื่อไหร่ก็ตามความต้องการน้อย สินค้ามีมากราคาลด สำคัญคือต้องสมดุลและเพียงพอ โดยไม่มีผู้ใดเดือดร้อน./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที ลีสซิ่ง จับมือ ศรีประจันต์วัฒนยนต์ จัดอบรม "ขับขี่ปลอดภัย ร่วมใจลดมลพิษ" โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี

  บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด  ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้ อรถจักรยานยนต์  ในเครือ เอ็ม บี เค  เล็งเห็นความสำคัญของการขับขี่ รถบนท้องถนนอย่างปลอ...