กรุงเทพฯ 31 พฤษภาคม 2565 – ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) เผยเครื่องมือสำคัญในการสำรวจความพร้อมและประเมินทักษะของผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.School Readiness 2.Career Readiness และ 3.Workforce Readiness เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนของภาคการศึกษา ช่วยแก้ไขความไม่สอดคล้องของทักษะในตลาดแรงงาน (Skill Mismatch) สอดคล้องกับเป้าหมายปฏิรูปการศึกษาบิ๊กร็อกที่ 1 ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) เปิดเผยว่า ความไม่สอดคล้องของทักษะแรงงานและทักษะที่ใช้ในการทำงานเป็นอีกปัญหาที่พบในสถานการณ์ตลาดแรงงานไทย สะท้อนถึงการขาดโอกาสทางการศึกษาและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้ความสำคัญ และได้กำหนดกรอบนโยบายการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพและความเสมอภาคในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กิจกรรมการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย หรือ บิ๊กร็อกที่ 1 โดยแบ่งตัวชี้วัดของกิจกรรมดังกล่าวออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
· School Readiness เครื่องมือสำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่การศึกษาระดับประถมศึกษา ติดตามพัฒนาการและศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ระดับชั้นประถมศึกษา พัฒนาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองในด้านพัฒนาการของเด็ก
· Career Readiness เครื่องมือสํารวจและประเมินทักษะความพร้อมเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา เครื่องมือนี้จะใช้ประเมินทักษะและความสามารถของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ว่าอยากศึกษาต่อในสาขาอะไร มีความถนัดในอาชีพกลุ่มไหน รวมถึงมีทัศนคติและองค์ความรู้อย่างไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการวางแผนในกลุ่มโรงเรียนหรือกลุ่มจังหวัด ช่วยให้เด็กค้นหาเส้นทางสู่สายอาชีพที่ตนเองต้องการได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจในการศึกษาเล่าเรียน และสามารถนำทักษะที่มีไปทำงานได้จริง
· Workforce Readiness เครื่องมือการประเมินศักยภาพด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ในระดับการศึกษาพื้นฐานของประชากรวัยแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ที่มีทักษะต่ำและบุคคลด้อยโอกาสในตลาดแรงงาน ครอบคลุมตั้งแต่ทักษะการอ่าน ทักษะทางอารมณ์และสังคม ทัศนคติ ไปจนถึงข้อมูลลักษณะภูมิหลังของประชากร เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้วางนโยบายและกลยุทธ์ ด้านพัฒนาและยกระดับทักษะของแรงงานกลุ่มต่างๆ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา ทั้งด้านการวางแผนหลักสูตร และการผลิตนักศึกษาของภาคการศึกษา
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินงานช่วยเหลือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ทั้งในและนอกระบบ รวมถึงผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นทั้งเรื่องการศึกษาและโอกาสในการประกอบอาชีพ ภายใต้แนวคิดการติดตามการเติบโตของบุคคลตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา ไปจนถึงการเข้าสู่ตลาดแรงงาน การพัฒนาเครื่องมือเพื่อสำรวจความพร้อมและประเมินทักษะของเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกันระหว่างคนและงาน โดยยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ช่วยให้เกิดผลในระยะยาวและนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ
“ปัจจุบันมีอาชีพที่หลากหลายเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงทักษะใหม่ๆ ที่ต้องได้รับการพัฒนาตลอดเวลา การแนะแนวทางให้ผู้เรียนได้รู้ว่าตนเองมีความถนัดในด้านใด ค้นหาตัวเอง และมองเห็นเส้นทางอาชีพได้เร็วขึ้นยิ่งได้เปรียบ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนยากจน ที่มีความเสี่ยงออกจากระบบกลางคันโดยไม่มีงานรองรับหรือต้องไปทำงานที่ไม่สอดคล้องกับทักษะที่มี เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ และที่สำคัญคือพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงมีช่องทางพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองต่อไป” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น