นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 4 ร่วมกับนายลินโป ล็อกนัท ชาร์มา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ หัวหน้าคณะผู้แทนภูฏาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมีนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายณรงค์ วุ่นซิ่ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศภูฏานมีประชากรประมาณ 800,000 คน มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับภูฏานในปี 2564 มีมูลค่ารวม 2,100 ล้านบาท เป็นการส่งออกจากประเทศไทยไปภูฏานเกือบทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยได้ดุลการค้าเกินดุลกับภูฏานประมาณ 2,096 ล้านบาท +28.68% สินค้าที่ไทยส่งออกไปภูฏาน ประกอบด้วย สิ่งทอ ผ้าผืนใหญ่สังเคราะห์ และเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่ารวมกันประมาณ 70% ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าอื่นๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลไม้สด ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง และผลไม้แห้ง สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ประเทศภูฏานส่งออกมาไทย คือ ผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ กาแฟ ชา เครื่องเทศ เยลลี่ผลไม้ และโลหะ ผลิตภัณฑ์จากโลหะซึ่งเป็นรูปหล่อขนาดเล็กทำด้วยทองแดง โดยนักธุรกิจไทยไปลงทุนภาคบริการในภูฏานหลายราย ทั้งกิจการโรงแรม ที่พัก สปาและร้านอาหาร
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ไทยได้หยิบยก 6 ประเด็น เพื่อหารือกับท่านรัฐมนตรีภูฏาน ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ควรปรับเป้าหมายการค้าร่วมกันจากเดิมปี 2564 มูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็นมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท เป็น 3,600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากเดิมประมาณสามเท่า โดยใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราการค้าระหว่างกัน เพิ่มขึ้น 15-20% มาโดยลำดับ
ประเด็นที่สอง ขอให้ภูฏานสนับสนุนการส่งออกสมุนไพรและยาแผนโบราณของไทย ทั้งการขึ้นทะเบียน การเปิดตลาดและการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ซึ่งจะเป็นเป้าหมายใหม่ในการส่งออกและถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ของสมุนไพรไทยและยาไทยแผนโบราณ
ประเด็นที่สาม ไทยมี MOU ด้านหัตถกรรมกับภูฏาน ซึ่งได้หมดอายุเมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว จึงได้ขอให้ต่ออายุอีก 5 ปีนับจากวันที่หมดอายุ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมหัตถกรรมชุมชนหรือสินค้าชุมชนของสองประเทศทั้งการผลิตและการค้า
ประเด็นที่สี่ ไทยมี MOU ด้านการท่องเที่ยวกับภูฏานฉบับปัจจุบัน ซึ่งใช้มา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 - มิ.ย. 2565 ซึ่งได้ขอให้ต่ออายุออกไปอีก 5 ปี โดยจากเดิมทำ MOU ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับสภาการท่องเที่ยวภูฏาน จึงได้ขอเพิ่มหน่วยงานของไทย คือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และเสนอขอให้ภูฏานจับมือกับประเทศไทยทำเป็นแพคเกจทัวร์ โปรแกรมท่องเที่ยวร่วมกัน ซึ่งหากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาภูฏานสามารถมาที่ประเทศไทยได้ด้วย และนักท่องเที่ยวมาไทยสามารถไปที่ภูฏานได้ในแพคเกจเดียวกันหรือรายการทัวร์เดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ระหว่างการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ได้ขอให้ภูฏานกับไทยจับมือกันส่งเสริม Soft Power เป็นจุดขายสำคัญอีกจุดระหว่างกันเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะเน้นศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตทั้งเรื่องอาหาร และหัตถกรรม โดยเป็นการดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกมายังสองประเทศ
ประเด็นที่ห้า ไทยได้เชิญนักธุรกิจภูฏานผ่านท่านรัฐมนตรี ล็อกนัท ชาร์มา เข้าร่วมงาน THAIFEX -ANUGA Asia 2022 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียของประเทศไทย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค.นี้ และขอเชิญเข้าร่วมงาน The Marche by STYLE Bangkok ที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น ระหว่างวันที่ 18-22 พ.ค. นี้ รวมทั้งขอให้ช่วยสนับสนุนการจับคู่เจรจาการค้าระหว่างนักธุรกิจไทยกับภูฏานที่กระทรวงพาณิชย์จะจัดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. นี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
ประเด็นที่หก ได้สอบถามทางภูฏานถึงช่วงเวลาในการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว เพื่อประกอบการดำเนินการของนักธุรกิจไทยที่เดินทางไปลงทุนด้านโรงแรม อาหาร สปา และอื่นๆ ซึ่งจะกำหนดแผนงานในการดำเนินธุรกิจได้ล่วงหน้า โดยท่านรัฐมนตรีภูฏานสนับสนุนความเห็นของไทยทั้ง 6 ประเด็น
นายจุรินทร์ เพิ่มเติมว่า ท่านรัฐมนตรีล็อกนัท ชาร์มา ได้หยิบยก 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นแรก ภูฏานประสงค์จะขอทำการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement: PTA) ไทย – ภูฏาน ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงการค้าเฉพาะด้านสินค้า ซึ่งปัจจุบันภูฏานมี PTA กับประเทศบังกลาเทศ เพียงประเทศเดียว และประเด็นที่สอง ภูฏานประสงค์จะส่งออกผลไม้สำคัญ 3 รายการ คือ แอปเปิ้ล ส้ม และมันฝรั่ง มาไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพิจารณาการทำผลการวิเคราะห์การปราศจากศัตรูพืชของผลไม้รายการเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมการร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นของภูฏานมายังประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคไทยต่อไป ทั้งนี้ ภูฏานทำการเกษตรวิถีใหม่เป็นการเกษตรปราศจากการใช้สารเคมี และการประชุม JTC ครั้งที่ 5 ประเทศภูฏานจะเป็นเจ้าภาพต่อไป
“ถือว่าการประชุมครั้งนี้ ได้ประโยชน์อย่างยิ่งเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะนำสินค้าสมุนไพรไทยและยาแผนโบราณของไทยไปภูฏาน” นายจุรินทร์ เสริม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น