ว่ากันว่ากว่าคนสองคนจะพร้อมมีลูก ทั้งคู่ต้องคิดเผื่อสารพัดคำถามล่วงหน้าหลายสิบข้อ เพื่อตระเตรียมความพร้อมต้อนรับ ‘เจ้าตัวน้อย’ เข้ามาเป็นสมาชิกคนใหม่ในบ้าน ...แต่ในตอนที่ทุกอย่างเกือบจะมาถึงจุดหมาย ว่าที่คุณพ่อ-คุณแม่มือใหม่กลับต้องเผชิญสิ่งที่หลายครอบครัวไม่อยากเจอ อย่าง “ภาวะมีบุตรยาก” ปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและความสัมพันธ์
ความหมายของภาวะมีบุตรยาก คือการที่คู่สมรสไม่สามารถประสบผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด โดยปกติจะนิยามว่ามีบุตรยากได้ จะนับจากระยะเวลาหลังจากการใช้ชีวิตคู่อย่างน้อย 1 ปี แต่ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่โดยใช้อายุของฝ่ายหญิงมาตัดสินร่วมด้วย คือถ้าอายุน้อยกว่า 35 ปี จะนิยามด้วยเกณฑ์เวลา 1 ปีเท่าเดิม แต่ถ้าฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี จะนับเวลาแค่เพียง 6 เดือน เพราะคุณภาพไข่จะลดลงไปตามวัย และจะแย่ลงไปอีกหากฝ่ายหญิงมีอายุเกินกว่า 38 ปีขึ้นไป
แม้คำนิยามของภาวะขึ้นกับอายุฝ่ายหญิงเป็นหลัก แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากก็สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งฝั่งผู้ชายและฝั่งผู้หญิง ซึ่งทางฝ่ายชายมักมาจากความผิดปกติของอสุจิเป็นหลัก อาทิ
· ฮอร์โมนไร้ท่อจากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ
· ตัวอัณฑะเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือการฉายแสง
· อสุจิไม่ออกมา จากการที่ท่อนำอสุจิตัน หรือมีการไหลย้อนของอสุจิกลับไปที่ท่อปัสสาวะ
· โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่นโรคเบาหวาน อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือป่วยเป็นคางทูม ที่อาการรุนแรงจนส่งผลถึงตัวอัณฑะ
· ปัญหาทางจิตเวชและความเครียดต่าง ๆ
ในทางฝ่ายหญิง นอกจากปัจจัยหลักด้านอายุที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพของไข่แล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน โดยเฉพาะความผิดปกติในอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น
· ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ไม่สร้างฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่จนไม่เกิดการผลิตไข่ขึ้นมา
· ความผิดปกติของรังไข่ เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS)
· ภาวะรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร
· มีการผ่าตัดที่ตัวรังไข่หรือเกิดการติดเชื้อมาก่อน จนทำให้เหลือเนื้อรังไข่น้อย
· เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ท่อรังไข่บวม ตัน หรืออยู่ผิดตำแหน่ง
· ตัวมดลูกผิดรูป ที่เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
· โรคอย่าง “ช็อกโกแลตซิสต์” ที่เกิดจากการอักเสบในอุ้งเชิงกราน จนเกิดเป็นผังพืดและอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
แพทย์หญิงพิชชา ปิ่นจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลเสริมว่า การตรวจสอบภาวะมีบุตรยากในทางการแพทย์ จะตรวจสอบได้ทั้งฝ่ายชายและหญิง โดยทั่วไปของฝ่ายชายคือการเก็บอสุจิส่งตรวจ โดยจะดูในเรื่องจำนวน เปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหว และรูปร่างของอสุจิ ส่วนของฝ่ายหญิงจะเป็นการตรวจภายในทั่วไป และอัลตร้าซาวด์หาความผิดปกติของอวัยวะ หรือมากกว่านั้น แพทย์จะใช้วิธีฉีดสีดูท่อนำไข่ หรือส่องกล้องในช่องโพรงมดลูก เพื่อดูเรื่องของเนื้องอกติ่งเนื้อต่าง ๆ เข้ามาประกอบ
“เมื่อพบสาเหตุแล้ว ก็เท่ากับว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตรให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากยาหรือการผ่าตัดแล้วยังไม่สามารถมีบุตรเองได้ ทางเลือกต่อไปที่มีโอกาสมากที่สุด คือการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์อย่าง IVF เข้ามาช่วย หรือที่เราเรียกกันว่าการทำเด็กหลอดแก้ว”
การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF (In-Vitro Fertilization) คือเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มโอกาสการมีบุตรด้วยการนำไข่และอสุจิของคู่สมรสออกมาปฏิสนธิกันนอกร่างกาย วิธีการคือแพทย์จะใช้ยากระตุ้นไข่ลักษณะฮอร์โมนแบบฉีดต่อเนื่องราว 8-12 วัน เพื่อเพิ่มจำนวนไข่ จากนั้นจึงเจาะดูดไข่ออกมา แล้วจึงฉีดอสุจิของคู่สมรสเข้าไป เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิและเกิดเป็นตัวอ่อนในหลอดแก้ว และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตัวอ่อนนั้นจะถูกย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงให้เกิดการฝังตัว พร้อมตั้งครรภ์ในท้ายที่สุด
แพทย์หญิงพิชชา ยังเสริมต่อว่า ในวันเดียวกับที่เราเก็บไข่ แพทย์จะให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิออกมาด้วย ซึ่งในกรณีที่เก็บอสุจิไม่ได้หรือฝ่ายชายไม่มีอสุจิ แพทย์จะทำการเจาะอสุจิจากบริเวณท่อพักหรือจากตัวอัณฑะออกมา อีกทั้งในระหว่างกระบวนการทำ IVF จะใช้วิธี ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) จากปกติที่เราจะให้อสุจิจำนวนหนึ่งเข้าไปปฏิสนธิกับไข่เอง แต่ ICSI หรืออิ๊กซี่ คือการคัดเลือกอสุจิที่ดูดีและเคลื่อนไหวได้ดีมา 1 ตัว แล้วจึงฉีดเข้าไปในไข่ เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการปฏิสนธิให้มีมากขึ้น
อัตราความสำเร็จในการทำ IVF ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของอสุจิ คุณภาพของตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิ ไปจนถึงความปกติของมดลูก แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด จะขึ้นอยู่กับ ‘อายุของฝ่ายหญิงเป็นหลัก’ โดยการทำ IVF กับคู่สมรสที่อายุยังน้อย โอกาสตั้งครรภ์จะมีสูงถึง 30-40% แต่ถ้าทำในตอนอายุ 40 ปี โอกาสจะลดเหลือ 10-15% ยิ่งพออายุมากกว่าขึ้นในหลัก 42 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะเหลือประมาณ 5-10% และเมื่ออายุเกิน 44 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะตั้งครรภ์จากการทำ IVF จะเหลือน้อยกว่า 5% โดยทฤษฎี
“ภาวะมีบุตรยาก เป็นหัวข้อที่คู่สมรสควรจะพูดคุยกับแพทย์ หรือวางแผนร่วมกันตั้งแต่ก่อนแต่งงาน หรืออย่างน้อยก็ควรใช้วิธีตรวจก่อน เพราะหากบางคู่พยายามมีบุตรเองแล้วมาพบเจอปัญหาเหล่านี้ทีหลัง รอจนระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน ไป 1 ปี แล้วอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จน 38-39-40 เท่ากับว่าคุณภาพไข่ก็จะยิ่งแย่ลงไปตามอายุ โอกาสในการตั้งครรภ์หรือแม้แต่กับการทำเด็กหลอดแก้ว ก็จะอาจจะช้าเกินไปเสียแล้ว” แพทย์หญิงพิชชา กล่าวสรุป
พูดคุยทุกปัญหามีบุตรยากกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเพิ่มโอกาสด้วยเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ IVF กับโรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ที่ Website: www.praram9.com / FB: Praram 9 hospital / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital หรือโทร. 1270 โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น