สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเกิดมาจากนโยบายพลังงานที่ล้มเหลว มีการพึ่งพาพลังงานนำเข้ามากเกินไป จนไม่สามารถกำหนดราคาพลังงานในประเทศได้ ถึงเวลาต้องพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ให้ได้โดยเร็ว นักวิชาการและนักรณรงค์เรียกร้องรัฐบาลต้องลดอุปสรรคการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่สะท้อนมาจากเวที สภาองค์กรของผู้บริโภค
ความล้มเหลวด้านนโยบายพลังงานอาจสะท้อนให้เห็นได้จากข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของไทยว่า ในขณะที่ปัจจุบันคนไทยเสียค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยคนละ 10,000 บาทต่อปี แต่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของไทยในช่วง 12 ปี กลับลดลงจาก 46% เหลือแค่ 25% เท่านั้น ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้แจง และกล่าวเสริมว่า “การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาเราใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ารวมมูลค่าสูงถึง 3.2 แสนล้านบาท ในขณะที่สหรัฐอเมริกาส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากที่สุดในโลก แต่กลับใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเพียง 38% เท่านั้น สลับกับไทยที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ แต่กลับใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าสูงถึง 64% เรียกว่าของที่เราไม่มี นำเข้า เราใช้เยอะ แต่ของที่เรามีแต่เราไม่ใช้”
จะเห็นได้ว่า ประเทศเยอรมนีถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าศึกษาด้านนโยบายการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เพราะใช้พลังงานจากโซล่าร์เซลล์ ชีวมวล พลังงานลม และพลังงานน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ส่วนรัฐบาลอินเดีย ได้ส่งเสริมโดยการให้เงินสนับสนุนประชาชนเพื่อติดตั้งโซล่าร์เซลล์ถึง 40% และรับซื้อไฟที่เหลือแบบ net-metering และที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการวางแผน 14 ปีต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ 1 ล้านหลังคาเรือนให้สำเร็จโดยปัจจุบันสามารถติดตั้งได้ถึง 1.4 ล้านหลังคาเรือน นี่คือความต่อเนื่องทางด้านนโยบายและการเอาจริงเอาจัง ดังนั้น การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกัน
แม้รัฐบาลยังไม่มีการส่งเสริมการพึ่งตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ก็ได้มีความพยายามที่จะหาทางเลือกด้านพลังงานในกลุ่มประชาชน อย่างเช่นพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้มีการนำพลังงานจากโซล่าร์เซลล์มาตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ค่าไฟของโรงเรียนศรีแสงธรรมเหลือแค่ 40 บาทต่อเดือน พระปัญญาวขิรโมลีเล่าว่า “ปัจจุบันวัดมีการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงโรงเรียนมีหอพัก มีเครื่องปรับอากาศ ค่าไฟก็อยู่ที่หลักพันกว่าบาท ถือว่าช่วยประหยัดไปได้มาก สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังขยายความรู้ ฝึกอบรมการติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์ไปยังชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ด้วย” พร้อมประกาศตั้งเป้าเดินหน้าติดตั้งโซล่าร์เซลล์ในโรงพยาบาลให้ครบ 77 จังหวัดในอนาคต พร้อมนำเสนอมุมมองเพิ่มเติมว่าหากประเทศไทยมีการติดโซล่าร์เซลล์เพิ่มขึ้นจนทำให้มีพลังงานไฟฟ้าเกินความต้องการ ก็ควรมีโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่กระจายไปทุกท้องที่ เหมือนที่โรงเรียนศรีแสงธรรมได้ทำโครงการโซล่าร์แชร์ริ่งเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ขาดแคลน
ขณะที่นายภาคิน เพชรสง ผู้มีประสบการณ์ในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน จากจังหวัดพัทลุง ในอดีตประสบปัญหาค่าไฟแพงจากธุรกิจขายพิซซ่าที่ต้องใช้เตาอบและจ่ายค่าไฟไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,500 บาท แม้จะปรับเปลี่ยนหลอดไฟ ก็ลดค่าไฟฟ้าได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงได้เริ่มเข้าไปศึกษาอบรมการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ “วันนี้ที่บ้านเสียค่าไฟฟ้าเพียงแค่ 198 บาทต่อเดือน หลังจากติดตั้งโซล่าร์เซลล์ประมาณ 30 แผงแบบคละระบบ หากระบบใดระบบหนึ่งล่ม ของเราจะไม่ล่ม ระบบโซล่าร์เซลล์ส่วนใหญ่จุดที่ต้องระวังคือแบตเตอรี่ แต่ปัจจุบันพัฒนาไปมาก ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นแบตเตอรี่ลิเธียม ทำให้อายุการใช้งานนานมากขึ้น
ส่วนนายนที สิทธิประศาสน์ ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทางออกของประเทศไทยด้านพลังงานว่า ต้องเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง จากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนให้ได้ ซึ่งแผนพลังงานชาติของกระทรวงพลังงาน ภาครัฐตระหนักดี กำหนดชัดเจน พลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าจะต้องมีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง “ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถคุมราคาพลังงานโลกได้ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อย่างเดียว ส่งผลให้ค่าไฟมีราคาสูงถึง 6-7 บาทต่อหน่วย แต่ราคาค่าไฟเฉลี่ยของไทยอยู่ที่4 บาทเพราะมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานน้ำ ฟอสซิล ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าไทยไม่มีโอกาสควบคุมต้นทุนราคาพลังงานโลกเลย ดังนั้นการพึ่งพาตนเองระดับประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องหาศักยภาพในประเทศให้เจอเพราะต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า พลังงานแสงอาทิตย์จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ แม้ราคาแผงโซล่าร์เซลล์จะถูกลงแล้ว แต่ก็ติดปัญหาที่การกักเก็บ ทำอย่างไรให้ตัวแบตเตอรี่ถูกลงเหมือนโทรศัพท์มือถือ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” นายนทีกล่าวพร้อมกับคาดการณ์ว่าไม่เกิน 5-8 ปี จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจะลดลง ไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์จะมากขึ้นและราคาแบตเตอรี่จะถูกลง
การที่ไทยยังนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ดร.นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาราคาพลังงานได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า สะท้อนภาพใหญ่ของประเทศว่าเราเริ่มไม่มีความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มกลับมาพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด “ระบบการกักเก็บพลังงานแม้ปัจจุบันจะมีราคาสูง แต่มั่นใจว่าช่วงเปลี่ยนผ่านในอีก 3-5 ปีข้างหน้า น่าจะมีความเป็นไปได้ว่าเราจะสามารถลดการนำเข้าพลังงานได้ ยิ่งเราพึ่งพาตนเองได้มากเท่าไร ค่าไฟก็จะลดลงมากเท่านั้น แต่สิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อไปคือการนำระบบพลังงานหมุนเวียนหลายๆ ชนิดเข้ามาในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย”
รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงต้นเหตุค่าไฟแพงว่า หลายคนอาจคิดเรื่องราคาเชื้อเพลิงอย่างเดียว แต่นั่นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ต้นเหตุยังมาจากโรงไฟฟ้าสำรองไฟฟ้ามากเกินจำเป็น การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินไป และการวางแผน PDP ไม่ดีพอ ไม่สามารถทำนายอนาคตได้ดีพอ ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าที่ล้นเกินจำเป็นนั้นพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของโรงไฟฟ้าเอกชน IPP (Independent Power Producer) ไม่ได้เดินเครื่องเลยตลอดทั้งปี บางแห่งก็เดินเครื่องน้อยมาก ทำให้เรามีปัญหาโรงไฟฟ้าสำรองที่มากเกินไปจริงๆ ในปัจจุบัน “ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามาก หมายความว่าเราต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายที่มากตามไปด้วยเช่นกัน ที่สำคัญค่าเสื่อมของโรงไฟฟ้าก็ยังถูกนำเข้าไปอยู่ในค่าไฟฟ้าตลอดเวลา นอกจากนี้ ปัญหาของการวางแผนพลังงานไฟฟ้าของไทย เรามักพยากรณ์ไฟฟ้าที่มากเกินความจริง ไม่สอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งการวางแผนพลังงาน ก็เน้นไปที่ก๊าซ และพลังงานฟอสซิล เพราะเชื่อว่าพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่มั่นคงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ได้เปลี่ยนความคิดนั้นไปแล้ว ดังนั้น การออกจากวงจรนี้ คือการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มากยิ่งขึ้น เป็นการพึ่งพาตนเอง ลดความผันผวนด้านพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นว่าปัญหาราคาค่าไฟฟ้าแพงที่วันนี้ต้องร่วมกันหาทางออก ประชาชนต้องพึ่งตนเองด้านพลังงานให้มากขึ้น แต่เน้นย้ำว่านโยบายพลังงานที่ดี ต้องไม่ใช่การโยนภาระทั้งหมดไปที่ผู้บริโภค โดยสรุปสุดท้ายของการเสวนาหลายฝ่ายได้ให้ข้อเสนอแนะว่าภาครัฐต้องปรับกระบวนการวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มใหม่ของโลก ลดการใช้ฟอสซิล เพื่อลดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ และลดอุปสรรคการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์บนหลังคา โดยเริ่มนำร่องจากหน่วยงานภาครัฐ และตามต่อด้วยการส่งเสริมให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจดำเนินการตาม เพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องการให้พิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์บนหลังคาเป็นสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น