ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TCM Corporation) หรือ TCMC เผยผลประกอบการปี 2564 ยังคงทำรายได้กว่า 7.74 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 120 ล้านบาท ผลจากโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ นอกจากนี้วิกฤตการณ์ขนส่งทั่วโลก การขาดแคลนแรงงานและขึ้นราคาของวัตถุดิบทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าปรับประสิทธิภาพการผลิตและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มธุรกิจรับการฟื้นตัวของหลายอุตสาหกรรม มั่นใจธุรกิจพรมผ่านจุดต่ำสุด หวังกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งเพื่อร่วมฉลองบริษัทครบรอบ 55 ปี
นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCMC) เปิดเผยว่าภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในปี 2564 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 7,744.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 6,792.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.02 และมี EBITDA จำนวน 248.85 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 46.78 และมีผลขาดทุนสุทธิ 120.11 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 0.11 ล้านบาท โดยคิดเป็นขาดทุนสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 152.85 ล้านบาท
“สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 โรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ขนส่งทั่วโลก การขาดแคลนแรงงานและขึ้นราคาวัตถุดิบ ทำให้ผลประกอบการยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวังไว้ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในปีนี้เป็นปีที่บริษัทครบรอบ 55 ปี เรายังคงเดินหน้าปรับกลยุทธ์และแผนการเติบโตของแต่ละกลุ่มธุรกิจตามสภาพตลาดที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งในกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และอื่น ๆ โดยหวังว่าจะเติบโตได้มากขึ้นทั้งในด้านยอดขายและกำไร นอกจากนี้บริษัทมีการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มวัสดุปูพื้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ เพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้เรายังเน้นการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้บริษัทก้าวสู่ปีที่ 55 ด้วยความมั่นคงยั่งยืนสืบไป” นางสาวปิยพร กล่าว
- กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ยังขยายตัว แต่ผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูง ส่งผลให้ทำกำไรยังไม่ดีเท่าที่ควร
ในปี 2564 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.07 จากความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากโรคระบาดโควิด 19 และแนวโน้มการเติบโตของบ้านในประเทศอังกฤษ แต่กลุ่มธุรกิจยังไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้เต็มที่ สาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ระบบขนส่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในระบบอุตสาหกรรมและการขนส่งระหว่างประเทศที่เป็นปัญหายืดเยื้อมานาน ทั้งยังมีผู้ผลิตในต่างประเทศที่มีบางส่วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอังกฤษต่างประสบปัญหาเดียวกันทั้งหมด จึงทำให้กลุ่มธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารรวมกันเป็นจำนวน 852.74 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการเปิดร้านค้าปลีก Arlo & Jacob ทั้ง 5 สาขา ที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการในไตรมาส 2 ของปี 2564 รวมถึงค่าขนส่งที่สูงขึ้นทั้งค่าธรรมเนียมและค่าน้ำมันเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ กลุ่มธุรกิจมีผลขาดทุนสุทธิที่ 75.09 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 34.45 ล้านบาท
- แผนปรับธุรกิจลดต้นทุนทำองค์กร Lean เริ่มส่งประสิทธิผล เห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มวัสดุปูพื้น
แม้ในปี 2564 กลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก บางส่วนจะกลับมาเริ่มเปิดดำเนินการแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 จึงทำให้ยอดขายของ กลุ่มวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) ลดลง เนื่องจากระยะเวลาการผลิตพรมโรงแรมใช้เวลานาน ทำให้ปี 2563 มีรายได้จากลูกค้าที่เป็นคำสั่งซื้อต่อเนื่องมาจากปีก่อนเกิดโควิด แต่ปี 2564 ไม่มีคำสั่งซื้อยกมา เนื่องจากลูกค้ากลุ่มโรงแรมยังไม่ฟื้น ทั้งนี้ บริษัทได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โดยเน้นการขายในกลุ่มลูกค้าใหม่ทดแทน จึงมีรายได้จากตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าหรืองานที่มีการวางแผนงบประมาณไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น งานที่พักอาศัย อาคาร สำนักงาน ศูนย์ประชุมนานาชาติ สนามบินนานาชาติ อย่างไรก็ดี บริษัทก็ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งเครื่องจักรและบุคลากร รวมถึงการหาช่องทางการขายใหม่ ๆ และตลาดใหม่ ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งจะเห็นผลของการดำเนินงานได้ในปี 2565 จากการควบคุมต้นทุนและการทำองค์กร lean อย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 36.34 ใกล้เคียงกับปีก่อน ถึงแม้รายได้จะลดลงร้อยละ 23.8 โดยในปี 2564 กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารรวมกันเป็นจำนวน 671.91 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 813.46 ล้านบาทจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการทำงานเพื่อลดจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่มีอยู่ และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ ทำให้กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้นมีผลขาดทุนสุทธิ 118.71 ล้านบาท
- กลุ่มธุรกิจธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ ฟื้นตัว รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นชัดเจน
จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มธุรกิจธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) มียอดขายสูงขึ้นตามแนวโน้มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต โดยกลุ่มธุรกิจมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 12.07 และสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 21.75 ตามลำดับ แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้มีปัญหาการขาดแคลนชิพประมวลผลในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจผลิตรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงปัญหาจากโรงงานผลิตรถยนต์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีบางแห่งต้องปิดทำการชั่วคราวจากการระบาดในบางพื้นที่ ทำให้กระทบกับยอดส่งออกของบริษัทค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสูงขึ้น จากการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในรถยนต์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายปันส่วนจากส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีผลกำไรสุทธิ 73.69 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 70.53 สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปี ก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 60.44 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้น มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 20.02 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 29.95 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 9.45 ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 9.61 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด
แม้ผลการดำเนินงานปี 2564 ที่ผ่านมายังยังอยู่ในช่วงที่บางธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แต่เรายังคงยืนหยัดเดินหน้าในแผนการดำเนินงานปรับประสิทธิภาพ รวมถึงการรุกตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การปรับองค์กร Lean ลดต้นทุน และการเสาะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้ รายได้จะเติบโตมากขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และทำให้กลุ่มบริษัทกลับมาทำกำไรอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสัญญานให้เห็นจากกลุ่มธุรกิจที่ชะลอตัวในปี 2564 เริ่มได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ามาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของประมาณการยอดขายปี 2565 ของกลุ่ม นอกจากนี้เราได้ปิดดีลกับสนามบินนานาชาติสองดีลใหญ่ ได้แก่ สนามบินชางงี และสุวรรณภูมิ และศูนย์ประชุมนานาชาติที่เราจะทยอยส่งมอบภายในปี 2565 และเรายังคาดหวังที่จะเห็นการฟื้นตัวของกลุ่มท่องเที่ยว และโรงแรม นอกจากนี้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลดีต่อกลุ่มพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่ง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้นจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่งโดยเฉพาะในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะมีส่วนทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจในภาพรวม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของทีซีเอ็มซีกล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น