บริษัท
สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์, โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ
ภาคประชาสังคมเพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics), สถาบันพลาสติก และเครือข่ายพันธมิตร จัดนิทรรศการ “Let’s Close
the Loop” และกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจ (Business model) “From
Pieces to Business” เพื่อการจัดการพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ศูนย์การค้า
โดยมีเป้าหมายเพื่อการเผยแพร่ความรู้ สถานการณ์และแนวคิดการจัดการพลาสติกในประเทศไทย
รวมถึงเพื่อรวบรวมแนวคิดโมเดลธุรกิจด้านการจัดการพลาสติกจากนิสิต นักศึกษา
และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยกิจกรรมทั้งหมดได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ชั้น 3 โซน Living Hall
กิจกรรมภายในนิทรรศการ
“Let’s
Close the Loop”
และกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจ “From Pieces to Business” ประกอบด้วย
-
กิจกรรมนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย (Final Pitching) และประกาศผลผู้ชนะในการประกวดออกแบบแผนธุรกิจ
-
กิจกรรมการเสวนา
o
“Let’s Close the Loop”
o
“ผลิต ใช้ วนกลับ ปิดลูปพลาสติกด้วย PCR”
o
“เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน”
-
นิทรรศการการจัดการขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากต้นทางจนถึงปลายทางอย่างครบวงจร
นิทรรศการ
“Let’s
Close the Loop” และกิจกรรม “From Pieces to Business” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business
Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน (เขตปทุมวัน) โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก
บพข. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช.
นางสาวนราทิพย์
รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ (Chief
Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างสยามพิวรรธน์ สถาบันพลาสติก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำภารกิจที่สะท้อนวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก และต้องการเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต
สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้าง
ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย
ตลอดจนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการ Siam Pieces โดยวันสยาม (สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน) คือพื้นที่เป้าหมายหลักในการใช้ศึกษาและนำผลวิจัยไปวิเคราะห์เพื่อเตรียมจัดทำเป็นแนวคิดพัฒนาแบบแผนธุรกิจ
(Business Model) การบริหารจัดการขยะพลาสติกในสังคมเมือง
นำไปสู่รูปแบบโมเดลทางธุรกิจในการนำขยะพลาสติกทุกชนิดกลับเข้าสู่ระบบการผลิตและการนำกลับมาใช้ประโยชน์
จึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยต่อยอดโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของสยามพิวรรธน์ ซึ่งมุ่งมั่นเป็นต้นแบบของศูนย์การค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง
อีกทั้งเรายังได้ให้การสนับสนุนพื้นที่ของสยามพารากอน ดำเนินกิจกรรม Let’s
close the loop เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักในพฤติกรรมการทิ้งขยะพลาสติกของตนเอง
ผ่านนิทรรศการให้ความรู้ กิจกรรมเสวนา นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา
ได้นำเสนอผลงาน Business model competition ชูความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก
ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการเชื่อมโยงประกอบภาพให้สามารถบริหารจัดการพลาสติกได้อย่างครบวงจร
เป็นกลไกที่ส่งเสริม ขับเคลื่อน
และขยายผลให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำแบบแผนธุรกิจไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ
สำหรับการบริหารจัดการกับขยะพลาสติกหลังการใช้ให้เหมาะสมต่อไป”
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า “สถาบันพลาสติก ได้รับมอบหมายจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(บพข.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินการโครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้
โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน
อันเป็นโครงการหนึ่งที่สนองตอบวาระแห่งชาติเรื่อง BCG ของประเทศไทย
โดยดำเนินงาน ร่วมกับ PPP Plastics บริษัท สยามพิวรรธน์
จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค
เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนธุรกิจให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่
สำหรับการปรับปรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมถึงพฤติกรรม
ที่สามารถช่วยให้เกิดการคัดแยก และนำพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบได้เพิ่มมากขึ้น
และเชื่อมโยงข้อมูลทั้ง value chain ด้วย Digital
Platform ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานโครงการ กิจกรรม From
Pieces to Business ถือเป็นส่วนเสริมสำคัญ
โดยโครงการได้เปิดรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก
เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของที่แท้จริงของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
ผลงานจากการประกวด กิจกรรม ‘From Pieces to Business’
จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาแนวคิดด้านการบริหารจัดการของประเทศได้ต่อไป”
ศาสตราจารย์
ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โจทย์ที่เรากำลังจะมองกันคือการที่จะปิด Loop การจัดการขยะพลาสติกในเขตบริเวณตัวเมือง
ถ้าเรามองมาที่ประเทศไทย พื้นที่ที่อยู่รอบ ๆ บริเวณเขตปทุมวันคือพื้นที่เมืองที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น
และเป็นหัวใจหลักที่นักท่องเที่ยวจะมาใช้ชีวิตอยู่ โดยงานในวันนี้เรามี 4
ภาคส่วนที่มาอยู่ร่วมกัน ภาคส่วนที่ 1 คือทาง บพข. ภาคส่วนที่
2 ภาคเอกชน มีทาง PPP Plastic และกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศ
ภาคส่วนที่ 3 คือสถาบันวิชาการ ทั้งทางสถาบันพลาสติกและคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และภาคส่วนสุดท้ายคือภาครัฐ ทั้งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเขตปทุมวัน โดยในความหมายของชื่อโครงการ
SIAM PIECES คำว่า PIECES นั้นเกิดขึ้นมาจาก
PI = Piwat, E = Empowerment และ CES =
Circular Economy Society โดยเป้าหมายหลักที่เราอยากได้คือ Business
Model ซึ่งถ้าคิดขึ้นมาบนพื้นฐานของนักวิชาการหรือภาครัฐคิดนั้นจะค่อนข้างเป็น
Top-Down แต่สิ่งที่เราอยากได้คือการมีส่วนร่วม การที่จะ Empower และเป็นเจ้าของ Business Model ร่วมกัน สิ่งที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันคิดและนำเสนอมาให้คิดว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อมาถึงกลุ่มคนที่เป็น
Community ที่ลงมือทำจริง การประกวด Business Model
Competition ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่เมื่อเทียบกับการทำงานวิจัยทั่วไป
ถึงแม้เราจะไม่ได้ Business Model ที่ดีเยี่ยมที่สุดแต่มั่นใจว่าเราได้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจการจัดการพลาสติก
มีใจรักษ์โลก และร่วมทำเพื่ออนาคต”
นิทรรศการ “Let’s Close
the Loop” และกิจกรรม “From Pieces to Business” นี้เป็นบทสรุปของกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจในการจัดการพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันมีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์พลาสติกในประเทศไทยและการจัดการที่ถูกต้องจนครบวงจร
ตลอดจนการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแผนธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และหลักการและแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ
รวมถึงการให้คำปรึกษาและรับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันนำไปต่อยอดและพัฒนาแนวคิดแผนธุรกิจที่เป็นไปได้จริงในการจัดการพลาสติก
รวมถึงเป็นการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ด้านการจัดการพลาสติกอย่างครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่บุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมชมนิทรรศการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในขยายสู่สังคมในวงกว้างต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น