วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565

เกษตรกรไก่ไข่ท้อ ถูกตรึงราคา สวนทางต้นทุนพุ่ง


 บทความโดย สังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ


สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 3.40 บาทต่อฟอง เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนของผู้เลี้ยงไก่ไข่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาไข่ไก่ในวันนี้เป็นราคาที่แค่พอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้หายใจหายคอสะดวกขึ้นจากที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมานาน หลายคนอาจไม่รู้ว่า ราคาขายจริงหล่นลงไปต่ำกว่าราคาประกาศด้วยซ้ำ การปรับราคามาอยู่ในระดับนี้ จึงไม่ใช่การสร้างผลกำไรให้กับเกษตรกร เป็นเพียงการช่วยต่อลมหายใจ ให้พอต่อทุนให้อาชีพเลี้ยงไก่ไข่เดินหน้าต่อไปได้เท่านั้น

เรื่องนี้ อธิบดีกรมการค้าภายใน วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม ให้ความเห็นว่า ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม ที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ฟองละ 10 สตางค์ ถือว่าไม่ได้ขยับขึ้นมากนัก และต้อง “ให้ความเป็นธรรมกับผู้เลี้ยง” ด้วย เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงขณะนี้ปรับขึ้นสูงมาก ประกอบกับเวลานี้เป็นช่วงฤดูร้อน และสัปดาห์ที่ผ่านมาอากาศแปรปรวน ทำให้แม่ไก่ออกไข่ได้น้อย และไข่ที่ได้มีขนาดเล็กลง จึงยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก 

จากข้อมูลพบว่าสภาพอากาศร้อนแล้งเช่นนี้ ส่งผลให้แม่ไก่เครียดและให้ผลผลิตลดลง และช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่แม่ไก่ถูกปลดกรงตามรอบเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรปรับลดลงจากช่วงปกติแล้ว 10-20% ถึงแม้ว่าเดือนมีนาคมจะปลดกรงลดลง แต่มีการปลดล่วงหน้าไปแล้ว ทำให้ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงแม่พันธุ์ชุดใหม่ โดยปริมาณไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดในปัจจุบันประมาณ 40 ล้านฟองต่อวัน 

นายกสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ มาโนช ชูทับทิม บอกว่า ราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวขึ้น มาจากปัจจัยราคาอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพด และข้าวสาลี ที่เข้าสู่ภาวะขาดแคลนจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่ง 2 ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีมากกว่า 30% ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก ภาวะนี้ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบทั่วโลก วันนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละกว่า 13 บาท กากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้าราคาพุ่งไปกิโลกรัมละ 23 บาท จากราคา 10 กว่าบาท

ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าพลังงานก็ส่งผลกระทบกับการขนส่งไข่ไก่ที่ต้องมีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3.10-3.24 บาทต่อฟอง เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม และหากสถานการณ์สงครามยังคงยืดเยื้อต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ที่ต้นทุนการเลี้ยงจะยิ่งสูงขึ้น 

แม้ต้นทุนการเลี้ยงจะสูงขึ้นขนาดนี้ “หากแต่การขายไข่ไก่ของเกษตรกรไม่ได้เป็นอิสระตามต้นทุนที่ปรับขึ้น เพราะหน่วยงานภาครัฐขอความร่วมมือให้เกษตรกรตรึงราคาขายเอาไว้มาโดยตลอด”

เมื่อพิจารณาจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรแล้ว จะเห็นได้ว่าราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้จริงนั้น เท่ากับว่าคนเลี้ยงมีกำไรบางมาก ยิ่งถ้าฟาร์มไหนมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศแปรปรวนที่เข้าซ้ำเติมด้วยแล้ว ต้นทุนกับราคาขายก็ชนกันพอดี แทบไม่มีกำไรหรือบางฟาร์มถึงกับขาดทุน นี่ยังไม่นับภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟที่จะเพิ่มขึ้นแน่นอน จากการต้องเปิดระบบปรับอากาศ (EVAP) เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือนให้กับแม่ไก่ และยังมีค่าน้ำใช้ที่ปกติในทุกฤดูแล้งเกษตรกรจำเป็นต้องซื้อน้ำใช้ เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่รออยู่ข้างหน้า นี่คือความจริงที่เกษตรกรต้องเผชิญ

สำคัญกว่านั้นคือ ราคาไข่ที่เพิ่มนี้ เพียงแค่พอช่วยให้เกษตรกรพอได้หายใจคล่องขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้การทำอาชีพเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ โดยผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระมากมายเอาไว้ ไข่ที่ขายออกจากหน้าฟาร์มเกษตรกรเป็นไข่คละทุกขนาดที่ขายได้ในราคาเดียวคือ 3.40 บาทต่อฟอง ซึ่งกว่าไข่ไก่จะไปถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านกลไกตลาด กระบวนการ และคนกลางหลายขั้นตอน

เนื่องจากซัพพลายเชนของวงการค้าไข่นั้นยาวมาก มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย เริ่มตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรวมไข่ (ล้งไข่) ยี่ปั่ว ซาปั่ว ผู้ค้าปลีก จนถึงร้านขายของชำและตลาดสดในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละขั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่ทั้งหมดนี้ประโยชน์ไม่ได้ตกที่เกษตรกรผู้เลี้ยง เพราะเกษตรกรขายไข่หน้าฟาร์มแบบขายขาด ส่วนต่างราคาหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับค่าดำเนินการในแต่ละขั้นตอน

ส่วนราคาไข่ที่ประกาศฯ ปรับขึ้น 10 สตางค์ ซึ่งผู้บริโภคบางคนมองว่าไข่แพงนั้น ถ้าลงลึกในรายละเอียดก็จะเห็นความเป็นจริงว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น ยกตัวอย่างการบริโภคไข่ไก่ในครอบครัว ที่ในบ้านมีพ่อ-แม่-ลูก รวม 3 คน หากกินไข่คนละ 1 ฟองต่อวัน เป็นเวลาหนึ่งเดือน เท่ากับครอบครัวนี้จะกินไข่ไก่ 90 ฟอง เฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากราคาไข่ที่ปรับขึ้น เพียงเดือนละ 9 บาทต่อครอบครัว ซึ่งเงินเพียงแค่นี้ไม่ทำให้ผู้บริโภคต้องเดือดร้อน เรียกว่าจ่ายเงินกับเรื่องอื่นยังมากกว่านี้ด้วยซ้ำ

หากทุกคนทำความเข้าใจว่า ไข่ไก่เป็นสินค้า Commodities ที่ราคาแปรผันขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน โดยมีความต้องการบริโภค กับปริมาณผลผลิต เป็นตัวกำหนดราคา ดังนั้นราคาไข่ไก่ย่อมมีขึ้นมีลงตามกลไกตลาดในช่วงนั้นๆ และราคาที่ปรับขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรรวยขึ้น แค่ช่วยต่ออาชีพไม่ให้ล้มหายไปเท่านั้น 

วันนี้เกษตรกรขอเพียงความเข้าใจจากทั้งผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้เห็นความทุกข์และภาระที่พวกเขาต้องต้องแบกรับ การปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน ได้ขายไข่ไก่ที่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง คือทางออกที่เหมาะสมสำหรับคนเลี้ยงไก่ไข่./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที ลีสซิ่ง จับมือ ศรีประจันต์วัฒนยนต์ จัดอบรม "ขับขี่ปลอดภัย ร่วมใจลดมลพิษ" โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี

  บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด  ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้ อรถจักรยานยนต์  ในเครือ เอ็ม บี เค  เล็งเห็นความสำคัญของการขับขี่ รถบนท้องถนนอย่างปลอ...