กรุงเทพ ฯ 2 มีนาคม 2565 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 ของที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและวิจัยทางการแพทย์ ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยต้องเป็นเขตพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่ประกาศโดย NIA
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างศักยภาพของ “ย่านนวัตกรรม” ที่มุ้งเน้นพัฒนาพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพ และกิจกรรมที่ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Innovation-based enterprise, IBE) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ (Corporate) ในการสร้างธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการรวมกลุ่ม ผ่านเครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อกิจการทางนวัตกรรมภายในย่านนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและเศรษฐกิจภายในย่านด้วยการแบ่งปันทรัพยากร การสร้างและใช้นวัตกรรม รวมทั้งการร่วมกันกำหนดแนวทางและเป้าหมายที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่มากยิ่งขึ้น
สำหรับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีเป็นหนึ่งในย่านนวัตกรรมต้นแบบของ NIA เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ศักยภาพสูงที่สามารถต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ระดับประเทศ และยกระดับสุขภาวะของประชาชนได้ โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 มิติ คือ 1) การรวมกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรม วิสาหกิจเริ่มต้น ธุรกิจใหม่ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และหน่วยงานวิจัย (Innovation network) 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและนวัตกรรม (Physical Innovation Infrastructure, PII) และมีการใช้ประโยชน์เครื่องมือหรือกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัย และ 3) ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านในสาขาธุรกิจที่มีความโดดเด่น (Innovation sector)
การลงนามในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่อง “มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนย่านวัตกรรมการแพทย์โยธีให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ระดับประเทศ โดยระบุให้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่ออกประกาศโดย NIA ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีการกระจุกตัวของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย เป็นต้น เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน โดยสามารถรับสิทธิ และประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย โดยผู้ขอรับการส่งเสริมต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น โครงการสหกิจศึกษาและทวิภาคี และ 2) ความร่วมมือกับโรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก
“ทั้งนี้ NIA ได้วางแนวทางที่จะประกาศพื้นที่ย่านนวัตกรรมในพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบัน NIA ดำเนินการพัฒนาย่านนวัตกรรมทั่วประเทศทั้งกรุงเทพฯ จำนวน 8 ย่าน ได้แก่ โยธี กล้วยน้ำไท อารีย์ ปุณณวิถี รัตนโกสินทร์ ปทุมวัน คลองสาน และลาดกระบัง ภาคตะวันออก 4 ย่าน ได้แก่ บางแสน ศรีราชา พัทยา บ้านฉาง-อู่ตะเภาภาคเหนือ 2 ย่าน ได้แก่ สวนดอก และแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ย่าน ได้แก่ ศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งการเปิดพื้นที่ย่านใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ 1 ย่าน ได้แก่ กิมหยง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2567” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีสามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์: https://ymid.or.th/th/home เฟซบุ๊ค: Yothi Medical Innovation District: ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี https://www.facebook.com/YMIDofficial และLine official: @YMID
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น