วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ส่อง 4 เทรนด์การศึกษาช่วงโควิด ผลสำรวจชี้เด็กไทยจำนวนมากเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า บอร์ดปฏิรูปฯ การศึกษา เผยทิศทางปี 65 เร่งเยียวยาสุขภาพจิต-การเรียนรู้ถดถอย

 


      เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับระบบการศึกษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดโรงเรียน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน การเรียนออนไลน์ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กนักเรียนต้องหยุดชะงัก จนเกิดเป็นภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ กลุ่มนักเรียนยากจนมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบด้านรายได้ของครอบครัวเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลายาวนานถูกสะท้อนภาพให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังเร่งติดตามช่วยเหลือให้เด็กทุกคนได้กลับมาเรียนอีกครั้งอย่างเท่าเทียม รวมถึงการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทางการศึกษาไปมากกว่านี้

 

  นอกเหนือจากปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ต้องจับตามองแล้ว ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และรักษาการรองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้วิเคราะห์เทรนด์การศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 รวมถึงทิศทางการศึกษาในปีนี้ที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต โดยเปิดเผยว่า ประเด็นที่น่าสนใจของแวดวงการศึกษาหลังจากสถานการณ์คลี่คลายคือ การเยียวยาสุขภาพจิตใจของเด็กและการฟื้นฟูความรู้ถดถอยที่เกิดในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ที่วงการศึกษาทั่วโลกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโจทย์ในครั้งนี้

               

·        สุขภาพจิตใจของเด็ก เรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

การเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอเป็นเวลานานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่สร้างความเบื่อหน่ายและทำให้ผลการเรียนของเด็กนักเรียนแย่ลง แต่ยังส่งผลในด้านอารมณ์และสังคม (Social-Emotion) เนื่องจากไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างที่ควรจะเป็นตามช่วงวัย ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไปจนถึงภาวะอารมณ์ดิ่ง นอกจากนี้ในเด็กกลุ่มเปราะบางยังต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัว เช่น พ่อแม่ตกงาน พ่อแม่ติดโควิด ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ส่งผลไปถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การกิน การนอน หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงมีอาการซึมเศร้า หรือเสี่ยงมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้ สำหรับประเทศไทยในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยโดยกรมสุขภาพจิตพบว่า ร้อยละ 28 มีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการสำรวจสภาพจิตใจของเด็กอยู่เสมอและการเยียวยาสุขภาพจิตใจของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดหานักจิตวิทยาโรงเรียนเพื่อคอยช่วยเหลือเด็กๆ ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีจำนวนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสัดส่วนของนักเรียน

 

·        K-Shaped Recovery ที่กำลังก่อตัวในวงการศึกษา

ในแง่ของเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 เรากำลังเข้าสู่ยุคที่บางธุรกิจสามารถปรับตัวได้และเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ แต่ในทางกลับกันบางกลุ่มมีแนวโน้มการเติบโตแบบดิ่งลง เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ต้องปิดกิจการไป หรือที่เรียกว่าการฟื้นตัวรูปตัว (K-Shaped Recovery) เช่นเดียวกับด้านการศึกษา เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เด็กที่มีความพร้อมในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว สภาพแวดล้อมที่มีความพร้อม อุปกรณ์การเรียน สถานศึกษาและครูที่มีศักยภาพ จะเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่เด็กบางกลุ่มอาจปรับตัวได้ช้ากว่า เนื่องจากอุปสรรคความยากจน สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ หรือชีวิตได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียน รวมถึงกลุ่มที่กำพร้าพ่อแม่จากโควิด ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ผลกระทบในระยะยาวอย่างรุนแรง จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะการฟื้นตัวแบบ K-Shape ในระบบการศึกษาไทย และต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือเด็กนักเรียนเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้น 

 

·        อสม.การศึกษา บทบาทสำคัญของชุมชนเติมเต็มการเรียนรู้

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีเด็กนักเรียนจำนวนมากประสบปัญหาการเรียนรู้ผ่านระบบทางไกล โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ผู้ปกครองหลายครอบครัวไม่สามารถควบคุมหรือช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนรู้ได้ กลไกสำคัญที่เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเด็กนักเรียนเหล่านี้ในช่วงเวลาวิกฤตคือ อาสาสมัครการศึกษา (อสม.การศึกษา) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยเชื่อมโยงกับพื้นที่ชุมชน อสม.การศึกษา จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนในชุมชน เช่น ช่วยดูแลเรื่องอุปกรณ์การศึกษา ปรับจูนสัญญาณโทรทัศน์ หรือเป็นตัวเชื่อมทางด้านภาษาระหว่างครูและนักเรียนเนื่องจากบางพื้นที่เป็นชนเผ่า อาสาสมัครซึ่งเป็นคนในพื้นที่ช่วยสื่อสารเจตนารมณ์ของโรงเรียน หรือช่วยสอนหนังสือในกรณีที่ครูเข้าถึงพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึง นับเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเติมเต็มช่องว่างทางการเรียนรู้ของเด็ก และแม้ว่าโรงเรียนจะกลับมาเปิดเรียนตามปกติ แต่บทบาทของชุมชนยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องผลักดันต่อไป เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะการติดตามเด็กในชุมชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบ รวมถึงช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกไปแล้วให้มีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งและได้รับการพัฒนาทักษะเพื่อสร้างอาชีพต่อไปได้

 

·        ยุคของการศึกษาทางเลือก และการสร้างสรรค์นวัตกรรม

การเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ปกครองหลายคนมองเห็นความสำคัญของการเรียนแบบ Home School มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์และมาตรการที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง พ่อแม่หลายคนรู้สึกไม่คุ้มค่าที่ต้องจ่ายค่าเทอมแพงแลกกับการเรียนที่บ้าน สิ่งที่น่าสนใจคือภาครัฐจะมีแนวทางเข้าไปช่วยเหลือพ่อแม่หรือเด็กกลุ่มนี้เท่าเทียมกับเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างไร นอกจากการศึกษาทางเลือกที่มีบทบาทมากขึ้นแล้ว อีกเรื่องที่ได้เห็นกันมากขึ้นในช่วงโควิดคือ นวัตกรรมการศึกษาที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ทั้งโรงเรียนและครูผู้สอนต่างคิดค้นนวัตกรรมและออกแบบสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้เพื่อนำมาช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพ เช่น การแต่งตัวเพื่อดึงดูความสนใจจากเด็ก การใช้แนวทางแบบครูหลังม้า การใช้รถพุ่มพวงทางการศึกษา หรือนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ (Learning Box) สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มอิสระและความยืดหยุ่นของกระทรวงศึกษาธิการในการสนับสนุนการบริหารจัดการของสถานศึกษา และคาดว่าในอนาคตจะสามารถผลักดันให้ทุกโรงเรียนสามารถสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กตามสถานการณ์ต่อไปได้

 

สรุปได้ว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูเยียวยาทั้งด้านความรู้วิชาการและด้านสุขภาพกายและใจของเด็ก แต่ประเทศไทยยังคงมีโจทย์ใหญ่ทางการศึกษาที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทัดเทียมให้กับเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจหลักในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่กำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในเป้าหมายหลัก ด้าน (5 Big Rocks) ได้แก่ 1.การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 2. การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนรับศตวรรษที่ 21 3. การปฏิรูปการผลิตพัฒนาครู 4.การปฏิรูปอาชีวศึกษา 5.การปฏิรูปบทบาทการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา อย่างไรก็ดีการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้นและยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 

  ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที ลีสซิ่ง จับมือ ศรีประจันต์วัฒนยนต์ จัดอบรม "ขับขี่ปลอดภัย ร่วมใจลดมลพิษ" โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี

  บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด  ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้ อรถจักรยานยนต์  ในเครือ เอ็ม บี เค  เล็งเห็นความสำคัญของการขับขี่ รถบนท้องถนนอย่างปลอ...