[ชลบุรี] (25 มกราคม 2565) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเปิดศูนย์การเรียนรู้ระบบอัตโนมัติ “อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค” (EEC Automation Park) เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างเป็นทางการ ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการจากพันธมิตรเครือข่าย และชุดสาธิตระบบอัตโนมัติการผลิต ซึ่งสนับสนุนโดย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
ผศ.ดร. ณยศ คุรุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เผยความเป็นมา และพันธกิจของศูนย์การเรียนรู้ระบบอัตโนมัติ อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค (EEC Automation Park) มหาวิทยาลัยบูรพา ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 จากการสร้างการรับรู้เทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะผ่านชุดสาธิตระบบอัตโนมัติการผลิต การขนส่งด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม
- การพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมผ่านการอบรมระยะสั้น ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- การสร้างความร่วมมือเพื่อการทำงานร่วมกันของพันธมิตรให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory)
“อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค” (EEC Automation Park) มีจุดเริ่มต้นจากพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยบูรพา และ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2562 เพื่อการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม นักเรียน และนักศึกษา ให้มีทักษะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และเปิดดำเนินการตั้งแต่วันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2563 เพื่อให้เกิดการปรับปรุงภาคการผลิตไปสู่โรงงานอัจฉริยะ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษารวมกว่า 50 แห่ง ล่าสุดได้มีการจัดงานเพื่อแสดงความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันของกลุ่มพันธมิตรกว่า 58 บริษัท ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้งาน “EEC Connecting Thailand and Japan Collaboration Event 2021: Digital Manufacturing Platform” เพื่อส่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่โรงงานอัจฉริยะควบคู่กับการใช้คลื่นความถี่ 5G ภายในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้งานได้จริง เมื่อวันพุธที่ 29 กันยายน 2564
โอกาสนี้ นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และนายฮิโระอากิ คอนโด้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายอุปกรณ์ แขนกลหุ่นยนต์อุตสาหกรรม รุ่น RH-3FRH4515-R พร้อมคู่มือ มูลค่า 500,000 บาท เพื่อพระราชทานแก่ โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ใช้สำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอน และถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ตามลำดับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น