กรุงเทพฯ 31 มกราคม 2565 – รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แนะสถาบันการศึกษาด้านครุศาสตร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เร่งปรับบทบาทในการเสริมสร้างสมรรถนะของบัณฑิตครู รองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ ด้วยการพัฒนาสมรรถนะครูเพิ่มเติมใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 2.ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ จนผู้เรียนสามารถสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และ 3.ความสามารถในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เรียน รวมถึงปรับแนวคิดของสถาบันผลิตครู ให้มุ่งเน้นการผลิตนักพัฒนามนุษย์ (Human Developer) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน หรือ บิ๊กร็อกที่ 3
รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้ภาคการศึกษาต้องปรับตัวให้สอดคล้องและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสถาบันผลิตครูที่ต้องปรับบทบาทในการเสริมสร้างทักษะและพัฒนาศักยภาพให้กับครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เข้ากับสื่อการเรียนการสอนเพื่อจูงใจผู้เรียนและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ภายใต้กิจกรรมการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน หรือ บิ๊กร็อกที่ 3 ที่ต้องเร่งดำเนินการ
รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวเสริมว่า เพื่อที่จะพัฒนาทักษะและสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่นั้น สถาบันผลิตครูต้องปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของหลักสูตรจากเดิมที่เน้นด้านทฤษฎีและการผลิตบัณฑิตครูเพื่อตอบสนองการสอนวิชาเอกหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่เพียงอย่างเดียว อาทิ ครูวิชาภาษาอังกฤษ ครูวิชาสังคมศึกษา เปลี่ยนสู่การให้ความสำคัญกับการสร้างสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ของครูเพิ่มเติม เพื่อให้ครูมีสมรรถนะที่ครบถ้วนในตัวเอง แล้วจึงจะสามารถไปบ่มเพาะให้ผู้เรียนต่อได้ โดยสมรรถนะที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ละบุคคลจำเป็นต้องมีนั้น ประกอบด้วย 1.ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเนื้อหาสาระที่สอน (Subject Matter Expert) 2.ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และ 3.ความสามารถในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เรียน ทั้งด้านค่านิยม ทัศนคติ และความคิดที่ถูกต้อง
สำหรับปัญหาที่พบในปัจจุบันคือบัณฑิตครูจบใหม่ไม่สามารถบริหารการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในด้านต่างๆ เนื่องจากครูไม่มีทักษะที่คล่องแคล่วพอที่จะจัดการเรียนการสอนเมื่อเข้าสู่การทำงานจริง รวมถึงความรู้ความเข้าใจต่อหลักสูตร สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมายังไม่ได้รับการเสริมสร้างสมรรถนะอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาดัชนีคุณภาพของคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ตามระบบการให้คะแนนในการประเมินคุณภาพภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งระบุว่า คณาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของประเทศไทยมีคุณภาพอยู่ในระดับ “ต้องปรับปรุง” และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
“ปลายทางของสถาบันผลิตครูไม่ใช่แค่การมุ่งผลิตบัณฑิตครูเพื่อตอบสนองต่อจำนวนครูในสถานศึกษา เนื่องจากโลกของการศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่วิชาชีพข้าราชการครู สถาบันผลิตครูจึงควรเน้นการผลิตครูให้เป็นส่วนหนึ่งของนักพัฒนามนุษย์ (Human Developer) ที่มีสมรรถนะรอบด้านและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาทรัพยากรคนของประเทศให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีจำนวนบัณฑิตครูมากเท่าไร ยิ่งนับเป็นโอกาสของระบบการศึกษาที่จะได้คัดสรรบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพมากที่สุด” รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น