ตลอดระยะเวลา 133 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผลิตบุคลากร ออกมารับใช้สังคมอย่างต่อเนื่องหลายท่านทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชนในถิ่นทุรกันดาร อีกหลายคนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ และอีกไม่น้อยที่มีส่วนในการคิดค้น วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาในระดับโลก หากแต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ล้วนมีครูแพทย์ ผู้อุทิศแรงกายแรงใจ เพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นแพทย์ที่ดีให้เกิดขึ้นในใจของลูกศิษย์ทุกคน
เนื่องในวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม พ.ศ. 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงขอชวนรำลึกถึง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เรือโท นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ร.น. อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นแบบอย่างและแรงผลักดันให้ลูกศิษย์ เพราะนอกจากความรู้ เรื่องสรีรวิทยา เภสัชวิทยา และชีวเคมี ซึ่งเป็นวิชาหลักที่สอนแล้ว ท่านยังพยายามบ่มเพาะคุณลักษณะของการเป็นแพทย์ ทั้งความกล้าคิดกล้าทำ ระเบียบวินัย ความละเอียดรอบคอบ รวมไปถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ตลอดจนยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ด้วยการนำนักศึกษาจากเมืองไปช่วย ก่อสร้างโรงเรียนในชนบท เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและรับทราบถึงความยากลำบากของผู้คนในถิ่นทุรกันดาร และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาสังคมต่อไป
ที่สำคัญท่านยังเป็นนักบุกเบิกคนสำคัญ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วมากมาย อย่างการผลิตน้ำเกลือ ซึ่งท่านคิดค้นขึ้นในช่วงที่บ้านเรายังต้องนำเข้าน้ำเกลือราคาแพงจากต่างประเทศ จนเมืองไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตอหิวาตกโรคระบาด เมื่อ พ.ศ. 2501 หรือแม้แต่ช่วงที่เกษียณอายุ ราชการไปแล้ว ท่านก็ยังริเริ่มงานใหม่ๆ อย่าง เรื่องเวชศาสตร์การกีฬาซึ่งนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์มาช่วยยกระดับสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬา จนสามารถประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ระดับนานาชาติ
อีกงานหนึ่งที่ ศ.นพ.อวย ทุ่มเทอย่างหนัก คือการพัฒนาความรู้ด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์ ด้วยการนำความรู้ทางแพทย์แผนปัจจุบันมาผสมผสานกับแพทย์แผนไทย เพราะต้องการสืบสาน ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่บรรพบุรุษรังสรรค์ขึ้นให้คงอยู่ต่อไปความสนใจเรื่องแพทย์แผนไทยของท่านเริ่มมาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะครอบครัวรักษาด้วยวิธีนี้มาตลอด เมื่อเป็นแพทย์และได้ทุนไปศึกษาต่อที่เยอรมนี ท่านยังเป็นคนไทยคนแรกที่ทำรายงานวิจัยเรื่องใบเมี่ยง พร้อมถ่ายทอดสรรพคุณของสมุนไพรไทย ให้เพื่อนแพทย์ชาวต่างชาติฟัง พอกลับมาถึงประเทศไทย ท่านก็ไปร่วมงานกับกองทัพเรือ เพื่อหาสมุนไพรรักษาโรคมาลาเรียที่กำลังระบาดหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะกลับมาประจำอยู่ที่ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พร้อมกับผลักดันให้อาจารย์ในคณะ ทำวิจัยเรื่องสมุนไพรออกมามากมาย
จนกระทั่งอายุ 72 ปี ด้วยความที่เห็นว่า ปัจจุบันการแพทย์ไทยได้เสื่อมโทรมลงมาก หมอแผนโบราณ ที่ดีมีแต่จะหมดไป หมอที่เกิดขึ้นใหม่ก็หาคนเก่งได้ยาก ถ้าปล่อยเช่นนี้ ไม่ช้าการแพทย์ไทยเดิมซึ่งเป็นสมบัติ อย่างหนึ่งของชาติก็จะสิ้นสูญไป ท่านจึงตัดสินใจทุ่มเทเวลาที่เหลือในชีวิตเพื่องานนี้เต็มตัว ด้วยการตั้งมูลนิธิ ฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม เมื่อ พ.ศ. 2523 โดยครั้งนั้นท่านต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานอย่างหนัก เพราะคนไทยจำนวนมาก แม้กระทั่งแพทย์ด้วยกันเอง ก็ยังมองว่าแพทย์แผนไทยเป็นเรื่องล้าหลัง และไม่น่าเชื่อถือ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่านกำลังจะผลิตแพทย์เถื่อนขึ้นมา แต่ ศ.นพ.อวย ก็ไม่เคยหวั่นไหว ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป ด้วยการชักชวนลูกศิษย์ลูกหาจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันต่างๆ มาช่วยกันบุกเบิกและวางหลักสูตรแพทย์แผนไทย ประยุกต์ จนเกิดเป็นโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ตลอดจนพยายามหาทางช่วยให้นักศึกษา ที่จบออกมาได้รับการรับรองจากภาครัฐ เพื่อจะได้เป็นกำลังหลักในการสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนแก่ประเทศ
แม้สุดท้าย ศ.นพ.อวย ได้จากไปก่อนที่ความฝันจะลุล่วง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2533 แต่เชื้อไฟที่ได้ทิ้งไว้ก็ไม่เคยมอดดับไปไหน และเป็นแรงผลักดันให้ลูกศิษย์ช่วยกันสานต่อ จนสุดท้ายศาสตร์ แขนงนี้ ก็ได้รับการยอมรับ และเผยแพร่ไปยังวงกว้าง อย่างโรงเรียนอายุรเวทที่ท่านก่อตั้งขึ้น ก็เติบใหญ่กลายเป็นสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเกิดการเรียนการสอนเรื่องแพทย์แผนไทยประยุกต์ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ นับสิบแห่ง ผลิตบัณฑิตใหม่ปีละ 500 กว่าคน รวมทั้งมีบุคลากรที่ทำงานด้านนี้กระจายไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ คลินิกเอกชน และอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 5,000 ชีวิต ตลอดจนเกิดการต่อยอดความรู้
ทั้งงานวิจัย กระบวนการรักษาโรคใหม่ๆ จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรนา 2019สมุนไพรไทยยังได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถช่วยบรรเทาอาการป่วยได้
และทั้งหมดนี้คือ เสี้ยวหนึ่งของผลงานที่ครูแพทย์นักบุกเบิกอย่าง ศ.นพ.อวย ได้รังสรรค์ขึ้น จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายด้วยความหวังสูงสุดที่อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น
ร่วมบริจาคให้กองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ เลขที่บัญชี 016-446869-5 ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ https://bit.ly/33z4tnL สอบถามรายละเอียด โทร. 02 414 1775
รับชมคลิป “ครูในความทรงจำ” อาจารย์อวย เกตุสิงห์ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=KUus2UlZ_yA
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น