วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

บุ๊คสไมล์และสำนักพิมพ์วิช เปิดตัวหนังสือ ธรรมะจากหน้าเมรุ เน้นให้สังคมตระหนักถึงการสร้างคุณความดี และมีไมตรีต่อกัน

 


 

 

ถ้าเราเชื่อในกฎแห่งกรรม ทุกคนจะเลือกทำแต่ความดี บุ๊คสไมล์และสำนักพิมพ์วิช เปิดตัวหนังสือ ธรรมะจากหน้าเมรุ” ผลงานโดยพระมหาอดิศักดิ์ อภิปัญฺโญ เจ้าอาวาสวัดบรมสถล (วัดดอน) พระผู้ปฎิบัติกิจช่วยสงเคราะห์ทำการฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-๑๙ ฟรี โดยไม่คิดมูลค่า กว่า ๒๐๐ ศพ ในช่วงปีที่ผ่านมา

 

ในความสูญเสียอันแสนเจ็บปวดนั้น ยังมีอีกมุมที่สอนให้เราได้เห็นถึงสัจธรรมที่แท้จริงของชีวิต ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวที่แฝงด้วยข้อคิดคติธรรม ปรากฏเป็นหนังสือ “ธรรมะจากหน้าเมรุ” เพื่อเป็นคติเตือนใจเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในเรื่องของการเจริญเมตตา และมรณานุสติ เพื่อฝึกใจของเราให้เป็นสุขและรู้จักความสงบ รู้เท่าทันความทุกข์ รู้จักการปล่อยวางและเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง และเห็นเป็นสัจธรรมเหมือนกันว่า พระธรรม คือ ที่พึ่งสุดท้ายในยามที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ และเมรุเป็นสถานที่สุดท้ายในการส่งดวงวิญญาณให้ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ โดยมีพระเป็นที่พึ่งทางใจให้กับครอบครัวของผู้สูญเสีย

 

หนังสือ “ธรรมะจากหน้าเมรุ” จัดพิมพ์ในขนาดรูปเล่มกระทัดรัด พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ประกอบด้วยเรื่องราวที่แฝงด้วยข้อคิดแห่งธรรม ๒๕ เรื่อง จำหน่ายในราคา ๒๙ บาท ณ ร้านเซเว่นอิเลฟเว่น หรือ สั่งซื้อผ่าน ALL ONLINE จ่ายและรับสินค้าที่ร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น ทั่วประเทศ ฟรี!

๑. ที่พึ่งสุดท้าย

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ มีความรุนแรง ผู้คนล้มตายจำนวนมาก หลาย ๆ ครอบครัวติดเชื้อกันเกือบทั้งบ้าน บางครอบครัวสูญเสียสมาชิกหลายคนในเวลาไล่เลี่ยกัน การหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาก็ว่ายากแล้ว แต่เมื่อเสียชีวิต การหาที่เผาศพก็ยากเช่นกัน ญาติบางคนร้องห่มร้องไห้ขอร้องให้วัดช่วยเผาศพให้ ทางวัดบรมสถลเห็นความเดือดร้อนของญาติโยมจึงเปิดรับเผาศพโควิด-๑๙ ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

มีผู้เสียชีวิตรายหนึ่งมาจากสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีญาติเพียงคนเดียวที่ติดตามมาด้วย อาตมาเห็นแล้วก็รู้สึกสงสาร เป็นผู้หญิงผอม ๆ ตัวเล็ก ๆ นั่งอยู่คนเดียว เมื่อทำพิธีฌาปนกิจศพเสร็จแล้ว ผู้หญิงคนนี้ก็ยังนั่งอยู่

 

อาตมาจึงถามโยมว่า “ยังไม่กลับหรือ จะมาเก็บอัฐิพรุ่งนี้หรือ”

โยม “จะรอรับกลับวันนี้เลยเจ้าค่ะ”

พระ “บ้านโยมอยู่ไกลไหม”

โยม “อยู่อยุธยาเจ้าค่ะ”

พระ “จากอยุธยามาถึงวัดดอนก็ไกลเหมือนกันนะ แล้วจะกลับยังไงล่ะ”

โยม “จะนั่งรถเมล์กลับเจ้าค่ะ”

พระ “โยมมีเงินติดตัวกี่บาท”

โยม “มีอยู่ ๓๐ บาทเจ้าค่ะ”

พระ “อ้าว ๓๐ บาท จะกลับถึงไหม แล้วโยมกินข้าวหรือยัง”

โยม “ไม่เป็นไรเจ้าค่ะ กินไม่ลง”

โยมเล่าชีวิตของตัวเองให้ฟังว่า อยู่กันสองคนสามีภรรยา ลูกไม่มี ก็ไม่รู้จะพึ่งใคร ญาติพี่น้องก็ไม่มี ไม่มีใครนับญาติ โยมเป็นแม่บ้าน ส่วนสามีเป็น รปภ. พอสามีป่วยก็ไม่สามารถทำงานได้ โยมจึงต้องดูแล

 

อาตมาคิดว่า คนเราเมื่อไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่มีชื่อเสียง ไม่มียศไม่มีตำแหน่ง ก็ไม่มีใครเคารพนับถือ แม้เป็นญาติก็ตัดขาดความเป็นพี่เป็นน้อง บางทีเราใช้กระดาษแผ่นบาง ๆ ที่เรียกว่าเงินนี้ ตัดสายเลือด ตัดความสัมพันธ์ ตัดความเป็นพี่เป็นน้องได้ แต่อาตมาเชื่อว่า ความเป็นพี่เป็นน้องนั้นสำคัญกว่าเงินทอง

 

อาตมารู้สึกสงสารจับใจ อยากจะช่วยเหลือ จึงมอบเงิน ๑,๑๐๐ บาทให้เป็นค่าเดินทาง โยมมองหน้าอาตมาแล้วน้ำตาคลอ กล่าวขอบคุณวัดที่ช่วยดูแลและเป็นที่พึ่ง อาตมาจึงบอกว่า “เราต้องช่วยเหลือกันในตอนนี้ อาตมาเห็นโยมทุกข์ ได้แบ่งเบาความทุกข์โยมก็คงจะได้บุญนะ เพราะวัดเป็นที่พึ่งสุดท้ายของโยม”

 

          ก่อนกลับ อาตมาฝากคาถาไว้ภาวนาว่า “ไม่มีอะไรสูญเปล่าในการสูญเสีย, รักษาใจนะโยม”


๒. โลงหาย

วันหนึ่งมีศพโยมที่อยู่ใกล้วัดมาเป็นรายสุดท้ายคือศพที่ ๗ ลูกชายของผู้ตายมาติดต่อขอฌาปนกิจ อาตมาได้แจ้งกับโยมว่าการจองเตาเผาศพเต็มแล้ว จะเผาศพที่ ๗ ไม่ได้ เพราะเตาเผาของวัดมีแค่ ๒ เตา สลับกันเผาก็ได้เตาละ ๓ ศพต่อวัน ศพที่ ๗-๘ เผาไม่ได้จริงๆ โยมก็อ้อนวอนขอร้องว่า วัดอื่นก็ไม่อยากจะไป อยากจะมาเผาที่วัดนี้ เพราะอาศัยอยู่หลังวัดนี่เอง

 

อาตมาคิดในใจว่า ถ้าอยู่หลังวัดแล้วเคยทำบุญที่วัด หากไม่ช่วยก็คงไม่ได้ จึงรับปากว่าพรุ่งนี้จะดำเนินการให้ แต่วันนี้ เมรุเต็มและเผาไม่ได้แล้วจริง ๆ อาตมาจึงถามโยมว่า ให้ฝากโลงไว้ในเตาเผาก่อน พรุ่งนี้ ๙ โมงเช้าค่อยมาทำพิธีฌาปนกิจได้ไหม โยมดีใจมาก ก้มลงกราบ ๓ ครั้ง ตอนก้มกราบ น้ำตาก็หยดใส่กระจกแว่นตา ทำให้อาตมารู้สึกว่า เราได้ช่วยคนนะ อย่างน้อยก็ได้แบ่งเบาความทุกข์ ก็เลยแนะนำไปว่า คืนนี้บำเพ็ญกุศลสวดอภิธรรมให้แม่ ๑ คืน

 

วันรุ่งขึ้น ปรากฏว่า สัปเหร่อรีบวิ่งมาหาอาตมาแต่เช้า เพื่อแจ้งว่า...

สัปเหร่อ “ท่านครับ ศพที่มาฝากเราไว้เมื่อคืนในเตา โลงหาย ! ครับ”

อาตมาก็ตกใจ “อ้าว ! โลงมันหายไปไหนล่ะ”

สัปเหร่อ “เมื่อคืน เตาร้อนมาก มันเผาตัวเองไปเรียบร้อยแล้วครับ”

 

อาตมาคิดในใจ สงสัยว่าโยมคงจะใจร้อนที่ลูกยังไม่ฌาปนกิจให้ และต้องการปฏิบัติตามหลักสาธารณสุขคือเผาภายใน ๒๔ ชั่วโมง จึงประชุมเพลิงตัวเองเรียบร้อย

 

อาตมา “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เราไม่ต้องเปิดเตาให้เขาเห็น เราก็ทำพิธีประชุมเพลิงต่อเนื่องไปเลย เพราะศพที่ว่านี้ โลงหายไปหมดแล้ว เหลือแต่ตัวศพ”

 

จากประสบการณ์การฌาปนกิจศพที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ ญาติของผู้เสียชีวิตจะไม่รู้ว่าโลงนั้นหายไปแล้ว เป็นแบบนี้หลายศพ ศพไหนที่ฝากไว้ พอตอนเช้า โลงจะหายไป คราวแรก ๆ อาตมาก็ตกใจ แต่เมื่อมารู้ภายหลังก็เป็นเรื่องธรรมดา ญาติไม่ได้ติดใจอะไร เพราะศพที่ติดเชื้อไม่สามารถเปิดให้ญาติดูเป็นครั้งสุดท้ายได้อยู่แล้ว

 

        ทุกครั้งที่เราไปเผาศพใคร อย่าลืมเผาให้ได้ ๓ อย่างนะโยม

๑. เผาให้เห็น: เห็นว่าความตายเป็นสัจธรรมของชีวิต

๒. เผาให้หอม: ยกย่องคุณงามความดีของผู้ตาย ไม่ว่าร้ายใส่ความกัน

๓. เผาให้หาย: โกรธแค้นเคืองขุ่น ให้อภัยกันและกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที ลีสซิ่ง จับมือ ศรีประจันต์วัฒนยนต์ จัดอบรม "ขับขี่ปลอดภัย ร่วมใจลดมลพิษ" โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี

  บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด  ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้ อรถจักรยานยนต์  ในเครือ เอ็ม บี เค  เล็งเห็นความสำคัญของการขับขี่ รถบนท้องถนนอย่างปลอ...