ดร.พันธุ์อาจ ฉายภาพอนาคตนวัตกรรมไทย ปี 65 เผชิญบนโลกแห่งความท้าทาย
พร้อมแนวทางคว้าเส้นชัยให้นวัตกรรมไทยไปได้ไกลกว่าที่เคย
นวัตกรรมเป็นเรื่องที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังพูดถึงกันเป็นวงกว้าง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์แห่งความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเมื่อฉายภาพประเด็นดังกล่าวมาที่ประเทศไทย ก็จะเห็นได้เช่นเดียวกันว่าหลายภาคส่วนกำลังลงแรงแข็งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในระดับที่เข้มข้น ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เส้นชัยกับการเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์และนวัตกรรม จะพาไปไขคำตอบกันว่าทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญต่อบริบทโลกและประเทศไทย รวมถึงการบ้านสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมในอนาคต
“สงครามเย็นทางเทคโนโลยี” เทคโนโลยีและนวัตกรรมบนความท้าทายรูปแบบใหม่
มนุษยชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่เพียงแต่การระบาดของโรคโควิด-19 แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีและระบบอุตสาหกรรมโลกครั้งใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของไทย และประเทศชั้นนำทางนวัตกรรมต้องปรับตัวเพื่อไล่กวดคลื่นเทคโนโลยีลูกใหม่ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวการแพทย์ เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง เทคโนโลยีการเงิน และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่า “สงครามเย็นทางเทคโนโลยี” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
นวัตกรรมจะอยู่ในทุกเสี้ยวของชีวิต
ความเข้าใจทั่วไปที่มีต่อ “นวัตกรรม” ในทุกระดับ กำลังถูกท้าทาย ทำให้คำถามสั้น ๆ อย่าง “นวัตกรรมคืออะไร” สามารถมีคำตอบที่หลากหลาย และซับซ้อนขึ้น เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่นวัตกรรมโลกยุคใหม่ (Innovation transformation) อันเกิดจากแนวโน้มทางนวัตกรรมสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งที่เราเชื่อมั่นและคิดว่าเป็นความแน่นอนมาช้านาน ยกตัวอย่างเช่น การทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะต่าง ๆ การขาดแคลนชิปทั่วโลก เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในหลากหลายวงการอุตสาหกรรม แม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ยังกระทบ เพราะรถยนต์รุ่นใหม่นำระบบอัจฉริยะเข้ามาใช้กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว ประเด็นด้านการทำนวัตกรรมวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ อุตสาหกรรมการบินพาณิชย์และการท่องเที่ยวที่จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป การเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และสังคมไร้เงินสด เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก รวมทั้งภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์อุทกภัยในเยอรมนี และประเทศไทย ไฟป่าในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย รวมทั้งปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลงละลายมากขึ้น
“ความเป็นประชาธิปไตยทางนวัตกรรม” สมการทางนวัตกรรมกับคนรุ่นใหม่
จะเห็นได้ว่า “ระบบนวัตกรรม” ที่เราคุ้นเคยว่าเป็นเรื่องของหน่วยวิจัยและธุรกิจที่นำเสนอ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสู่ตลาดด้วยการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ผ่านการทำวิจัยและพัฒนาวิศวกรรม ทำต้นแบบจนนำไปสู่การผลิตนั้น ได้กลายเป็นภาพลักษณ์ในโลกยุคอุตสาหกรรมการผลิตไปแล้ว เพราะโลกปัจจุบันและอนาคตได้เคลื่อนตัวจาก แนวคิด “นวัตกรรมเปิดสำหรับธุรกิจ” ไปสู่ “เสรีภาพและนวัตกรรมฟรี” ที่ตอบคำถามคนรุ่นใหม่ทั่วโลกถึง “ฉากทัศน์” โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และรูปแบบการใช้ชีวิตที่กลับไปเป็นเหมือนเดิมไมได้ ดังจะเห็นได้จาก ผลการเลือกตั้งในเยอรมนีที่ผ่านมากับการก่อตัวขึ้นของแนวคิดแบบพรรคกรีน หรือ การเคลื่อนไหวของเยาวชนรุ่นใหม่ แบบกลุ่ม “วันศุกร์เพื่ออนาคต” (Friday for Future) ที่มีแนวร่วมคนสำคัญ คือ เกรต้า ธันเบิร์ก เป็นกระบอกเสียงสำคัญ สมการทางนวัตกรรมที่เคยเป็นโลกของ นักวิจัย บริษัทเอกชนที่ถือเงินลงทุน และสิทธิบัตร ได้เริ่มถูกท้าทายจากกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจสังคม เด็กรุ่นใหม่ และประชาสังคม ที่ทำให้ “ความเป็นประชาธิปไตยทางนวัตกรรม” เริ่มมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางนวัตกรรมในระดับโลกจนอาจทำให้ ทศวษวรรษที่ 2020 ที่เพิ่งเริ่มต้นเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงความเชื่อต่อแนวทางนวัตกรรมดั้งเดิมนั่นเอง
ภาพลักษณ์ใหม่ประเทศไทยที่ห้อยท้ายด้วย เมืองแห่งนวัตกรรม
การรายงานผลดัชนีนวัตกรรมโลก บอกอาการเชิงระบบของไทยไว้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าเราจะได้อันดับ 43 จาก 132 ประเทศ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าอันดับไม่ได้สูงมากนัก แต่ภายในตัวชี้วัดบ่งชี้ถึงการเติบโตอย่างเข้มแข็งของภาคเอกชน ดังจะเห็นได้จาก ดัชนีย่อยที่ประเทศไทยอยู่อันดับ Top20 แสดงให้เห็นถึง ธุรกิจไทยเริ่มใช้และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนกับรัฐสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยสัดส่วนนักวิจัยในภาคเอกชนที่ติด อันดับ 10 สินค้าและบริการสร้างสรรค์ อันดับ 15 ตามมาด้วย ความหลากหลายทางอุตสาหกรรมในประเทศ ในอันดับ 16 การดูดซับองค์ความรู้ในภาคเอกชนในอันดับ 18 รวมทั้ง การค้า การแข่งขันและขนาดตลาด ที่อยู่ในอันดับ19 และ ด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจไทย ในอันดับ 20
วาระแห่งนวัตกรรมแห่งชาติ และการบ้านสำคัญของประเทศไทย
ในบริบทของประเทศไทย ทุก ๆ วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรมจากโครงการแกล้งดิน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในฐานะ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549
วันนวัตกรรมแห่งชาติของทุกปี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติแก่บุคคล และองค์กรที่รังสรรค์นวัตกรรมไทยภายใต้ “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงข้างต้น โดยจะเห็นได้จาก 1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ สื่อและการสื่อสาร รวมทั้งองค์กรนวัตกรรม) 2) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ที่มอบให้แก่นักเรียน นิสิตและนักศึกษา เพื่อเตรียมสร้าง “นวัตกร” รุ่นใหม่ 3) รางวัล NIA Creative Contest 2021 ที่มอบให้กับ “นักอนาคตศาสตร์รุ่นใหม่” ในการมองภาพอนาคตของไทย และ 4) รางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เชิดชูเกียรติ “นักสื่อสารนวัตกรรม” จะเห็นได้ว่า เราไม่อาจมองนวัตกรรมในรูปแบบเดิมที่เข้าใจกันว่า นวัตกรรมคือ สิ่งประดิษฐ์ที่ขายได้อีกต่อไป แต่การมอง “นวัตกรรม” เปรียบเสมือนกับ ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายภาคส่วน ย่อมสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเป็น “ความปกติใหม่”
ภาพในภาคเอกชนดูกำลังดี แต่เรายังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมาก หากเราอยากให้ผู้รับรางวัลนวัตกรรมของไทยในอนาคตสร้างนวัตกรรมสำหรับโลกได้ เราจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบข้อบังคับ การสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ และการสร้างสรรค์ผ่านสื่อออนไลน์ การเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา และการสร้าง “บัณฑิตแห่งอนาคต” และการวิจัยและพัฒนาที่เชื่อมโยงกับบริบทสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ จุดอ่อนของระบบนวัตกรรมไทยไม่ใช่ว่าเราไม่มีคนเก่งหรือบริษัทที่เก่ง แต่เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้เขาเหล่านั้นได้แสดงออก และเสี่ยงได้อย่างมีตัวช่วยเหลือเพื่อล้มแล้วจะลุกขึ้นมาใหม่ และเราต้องมองออกไปนอกบ้านมากขึ้น หากเราต้องการให้ ความฝัน “ชาตินวัตกรรม” เกิดขึ้นจริง เราจำเป็นต้องส่งผ่าน “นวัตกรรมไทย” สู่โลก โลกที่หากเราไม่ปรับตัว เราจะไม่คุ้นเคยกับโลกใหม่แห่งอนาคคอันใกล้เป็นแน่แท้
###
#NIA #สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #นวัตกรรม #JCCOTH
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น