วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

แคมเปญ ‘Mercy is Power – พลังที่แท้จริงเกิดจากความเมตตาชีวิตช้างและเสือ’ ชวนคนไทยให้คำมั่น ไม่ซื้อไม่ครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือ

 


กรุงเทพฯ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 – ความต้องการผลิตภัณฑ์จากงาช้างและเสือที่เพื่อทำเครื่องรางนับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้ แคมเปญ 'Mercy is Power – พลังที่แท้จริงเกิดจากความเมตตาชีวิตช้างและเสือ’ รณรงค์ให้คนไทยทุกคนร่วมให้คำมั่นสัญญาพร้อมกับดาราและผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียล เช่น เชอรรี่-เขมอัปสร และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ว่าจะไม่ซื้อ ไม่ครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือ เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ช้างและเสือ

แคมเปญ 'Mercy is Power – พลังที่แท้จริงเกิดจากความเมตตาชีวิตช้างและเสือ’ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ TRAFFIC ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

 

การรณรงค์นี้ต้องการที่จะท้าทายความเชื่อของคนไทยว่า การซื้อและครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือมีผลทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ เพราะตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้า ล้วนเกิดขึ้นจากความพยายาม และความมุ่งมั่นของตน หาใช่มาจากการครอบครองเครื่องรางที่ทำขึ้นจากการฆ่า แต่การละเว้นและเมตตาชีวิตสัตว์ป่าคือพลังที่แท้จริง โดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ซื้อ ไม่ครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือได้ที่ www.mercyispower.com และรับยันต์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคำมั่นดังกล่าว

 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า  “ภารกิจหลักของกรมอุทยานฯ คือการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า ผมเชื่อว่า แคมเปญ 'Mercy is Power' จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเตือน รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการใช้เครื่องรางที่ทำจากงาช้างและเสือ จะสร้างแรงหนุนให้การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายลดน้อยลงได้

 

ในปัจจุบันการครอบครองผลิตภัณฑ์จากงาช้างนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งผิดกฏหมาย เว้นแต่ผู้ครอบครองจะขึ้นทะเบียนภายในปี พ.ศ. 2558 หรือก่อนหน้านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลไทยได้ยกระดับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งการยกระดับนี้รวมไปถึงการเพิ่มบทลงโทษทั้งจำและปรับ

 

นางดารารัตน์ วีระพงษ์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส TRAFFIC กล่าวว่า “แนวทางที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ช้างและเสือในระยะยาวได้นั้นคือ การใช้เครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและพฤติกรรม (Social and Behavioral Change) ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยแคมเปญ 'Mercy is Power' ได้ใช้พลังผลักดันทางสังคม และการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์มาใช้เพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า การพรากชีวิตมาทำเป็นเครื่องรางสามารถทำให้โชคดีและเสริมบารมี เรารู้สึกตื่นเต้นที่แคมเปญนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมถึง พระภิกษุ ดารา ผู้มีชื่อเสียงในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งองค์กรพันธมิตรต่างๆ ที่ร่วมกันผลักดันให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ”

 

TRAFFIC รายงานว่า เฉพาะในประเทศไทย จากปี พ.ศ. 2543 ถึงปี พ.ศ. 2561 มีคดีเกี่ยวกับเสือที่จับได้จำนวน 49 คดี และยึดเสือของกลางได้มากถึง 369 ตัว และจนถึงปี พ.ศ. 2563 ได้มีการบุกจับเพิ่มขึ้นอีก ครั้งและสามารถยึดเสือของกลางได้เพิ่มอีก 24 ตัว นอกจากนี้ TRAFFIC ยังได้มีการติดตามการค้างาช้างออนไลน์และพบว่า ในการสำรวจเพียงแค่ วันในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีการขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างจำนวนกว่า 1,000 รายการ

 

“บรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อเครื่องรางจากงาช้างและเสือนั้นเปลี่ยนแปลงไป คนจำนวนมากเริ่มเข้าใจว่า การซื้อหรือการครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือส่งผลลบต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การลดความต้องการครอบครองผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสามารถยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายและช่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ การเปิดตัวแคมเปญ 'Mercy is Power' โดยความร่วมมือกับ TRAFFIC และกรมอุทยานฯ สามารถตอกย้ำแนวคิดเชิงบวกนี้ และหวังว่าจะสามารถยุติการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายได้ตลอดไป” ม.ร.เรอโนด์ เมเยอร์ ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทยกล่าว

 

แคมเปญนี้ยังได้นำเสนอคลิปวิดีโอสั้น 3 ชุด ที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook และ YouTube โดยคลิปสั้นนั้นมีสาระเตือนใจจากพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมให้คำมั่นว่า จะไม่ซื้อและไม่ครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือ โดยสามารถดาวน์โหลดยันต์อิเล็กทรอนิกส์ได้จาก www.mercyispower.com และใช้แฮชแท็ก #MercyisPower #ยัน(ต์)ว่าดียัน(ต์)ว่าได้บุญ #ละเว้นชีวิตช้างเสือคือพลัง

เหล่าผู้มีชื่อเสียงและรักษ์สิ่งแวดล้อมมากมายกว่า 20 คน เช่น คุณเชอรี่-เข็มอัปสรคุณแพทริเซีย กู๊ดคุณนุ่น-ศิรพันธ์คุณท็อป-พิพัฒน์คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุลและคุณมารีญา พูลเลิศลาภ ได้เข้าร่วมและสนับสนุนแคมเปญนี้ผ่านทางสื่อออนไลน์ของแต่ละท่าน ซึ่งจะเริ่มขึ้นก่อนวันเสือโลกในวันที่ 29 กรกฏาคม 2564 ที่จะถึงนี้

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแคมเปญ 'Mercy is Power พลังที่แท้จริงเกิดจากความเมตตาชีวิตช้างและเสือ' ได้ที่ www.mercyispower.com 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที ลีสซิ่ง จับมือ ศรีประจันต์วัฒนยนต์ จัดอบรม "ขับขี่ปลอดภัย ร่วมใจลดมลพิษ" โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี

  บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด  ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้ อรถจักรยานยนต์  ในเครือ เอ็ม บี เค  เล็งเห็นความสำคัญของการขับขี่ รถบนท้องถนนอย่างปลอ...