กรุงเทพฯ, 28 มิถุนายน 2564 - ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยและคอนเน็คกัน ทำให้เกิดชุมชนต่างๆ และผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนาอย่างต่อเนื่อง คนไทยเข้ามาบนทวิตเตอร์เพื่ออัปเดตว่ามีอะไรที่กำลังเกิดขึ้น #WhatsHappening ตลอดจนเข้าร่วมบทสนทนาในหัวข้อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวงการบันเทิง กีฬา รายการทีวี ภาพยนตร์ ความงาม หรือสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้คนจะเข้ามาค้นหาและแชร์เรื่องราวที่เป็นข้อมูลอัปเดตล่าสุดของหัวข้อเรื่องนั้นๆ ตลอดจนเรื่องราวอีกมากมายที่เกิดขึ้นบนทวิตเตอร์
บทสนทนา ถือเป็นหัวใจของทวิตเตอร์ จะเห็นได้ว่า เพียงทวีตเดียว ก็สามารถสร้างอิมแพ็คไปในวงกว้างได้ ทวิตเตอร์จึงได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาลงลึกในกว่า 64,000 ทวีตบนทวิตเตอร์ประเทศไทย เพื่อค้นหาพลังของทวีตและชาวทวิตภพว่ามีวิธีกำหนดวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างไรผ่านชุมชนและบทสนทนา
นายมาร์ติน ยูเรน หัวหน้าแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า “เป้าหมายของทวิตเตอร์ตั้งแต่แรกเริ่มคือการได้ทราบถึงมุมมองที่ถูกต้องแม่นยำในบทสนทนาของคนไทยบนทวิตเตอร์ แม้บางครั้งบางบทสนทนาสามารถส่งเสียงได้ดังกว่าบทสนทนาอื่นๆ แต่สิ่งที่เราค้นพบคือ บทสนทนาของคนไทยมีความหลากหลายและมีชีวิตชีวา ผลจากงานวิจัยของทวิตเตอร์แสดงให้เห็นว่า หัวข้อในการสนทนามีการทับซ้อนกันอย่างน่าสนใจจนทำให้เกิดเป็นธีมทางวัฒนธรรมหลัก 4 รูปแบบ ซึ่งการค้นพบของเราในครั้งนี้จะช่วยให้คนไทยมีความเข้าใจชุมชนที่หลากหลายบนทวิตเตอร์ได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับแบรนด์ไทยและต่างชาติได้ทราบถึงหัวข้อและธีมของการสนทนาอันเป็นเอกลักษณ์บนทวิตเตอร์ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน”
การวิจัยนี้พบวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของการพูดคุยบนทวิตเตอร์ประเทศไทย 4 รูปแบบ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อบทสนทนาที่มีความชัดเจนถึง 11 หัวข้อ แสดงให้เห็นว่า การแสดงออกของชาวทวิตภพนั้นสะท้อนถึงวัฒนธรรมไทย ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความชอบและความสนใจต่างๆ ในบทสนทนาอย่างหลากหลายและกระจายในวงกว้างมากซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนบนทวิตเตอร์ในประเทศไทย โดยวัฒนธรรมการพูดคุยใน 4 หัวข้อนั้นได้แก่
1. บันทึกส่วนตัว - การพูดคุยในชีวิตประจำวัน, ความรักและความสัมพันธ์ และการสะท้อนมุมมองความคิด
ธีมวัฒนธรรมการพูดคุยนี้นับได้ว่ามีพื้นที่บนทวิตเตอร์มากที่สุดโดยมีสัดส่วนถึง 45% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย และเป็นหัวข้อที่ผู้คนเข้ามาร่วมพูดคุยในชีวิตประจำวัน โดยมีการแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับกิจวัตรการเดินทาง และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตัวเอง นอกจากนี้ทวิตเตอร์ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการที่ผู้คนบอกเล่าเรื่องจริงจากใจและทวีตเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องของข้อบกพร่องของตัวเอง ความปรารถนาต่างๆ และการมีช่วงเวลาที่ดีกับคนสำคัญของพวกเขา
ชาวทวิตภพมักจะแชร์ปัญหาที่พบเจอในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองความคิดต่างๆ ซึ่งเรื่องราวที่เอามาแชร์อาจจะเป็นแค่เรื่องของการปวดเมื่อยร่างกายเล็กๆ น้อยๆ เช่น อาการปวดหัวหรืออาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จนถึง การชอบแสดงความคิดเห็นในเรื่องของสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจนแทบทนไม่ไหวและอยากให้ฤดูฝนมาถึงไวๆ
2. "เชื่อมต่อกับคนคอเดียวกัน" ต้องมาที่ทวิตเตอร์ - เหตุการณ์ปัจจุบัน, แพสชั่น และตลาดนัดออนไลน์
ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิตของคนไทย จากงานวิจัยพบว่า การเชื่อมต่อกับคนคอเดียวกันมีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย คนไทยได้ใช้ทวิตเตอร์อย่างกระตือรือร้นเพื่อให้มีการเชื่อมต่อกับชุมชนของเขาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเพื่อเป็นการอัปเดต #WhatsHappening ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยคนไทยมักจะทวีตเกี่ยวกับหลากหลายเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เรื่องโควิด-19 สกุลเงินคริปโต ไปจนถึงการเมืองในประเทศและในแถบภูมิภาคนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี กีฬา อาหาร หรือการช้อปปิ้ง ชาวทวิตภพมักจะแชร์แพสชั่นที่มีต่อหัวข้อเรื่องดังกล่าวบนทวิตเตอร์ ตั้งแต่เรื่องของความงาม อาหาร ร้านอาหาร และเทรนด์แฟชั่นล่าสุด คนไทยมีความกระตือรือร้นที่จะรีวิวสินค้าที่พวกเขาซื้อมาหรือสถานที่ที่ได้ไปมา สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ ทวิตเตอร์คือสถานที่ในการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี อาทิ อาหารพวกโฮมคุ้กกิ้ง ขนมหวาน เสื้อผ้า สินค้าจากบรรดาแฟนด้อมและงานฝีมือ คนไทยสามารถทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นตลาดนัดออนไลน์ ที่พวกเขาสามารถทำได้ทั้งนำเสนอสินค้าและแสดงความคิดสร้างสรรค์บนทวิตเตอร์
3. สิ่งสวยงามที่ดีต่อใจ - แกลอรี่ศิลปะ, คนดังและแฟนด้อม, และความหวังและความฝัน
บทสนทนารูปแบบนี้มีสัดส่วน 16% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย ชาวทวิตภพจะทวีตข้อความเกี่ยวกับความสนใจที่มีร่วมกัน ซึ่งสามารถสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ด้วยการทำ แกลอรี่ศิลปะ เหมือนเวลาที่ทำอัลบั้มรูปภาพหรือการทำหนังสือ scrapbook เพราะคนที่ใช้ทวิตเตอร์ชอบแชร์สถานที่สวยๆ หรือสิ่งของที่สวยงามในชีวิตประจำวัน เช่น ภาพคาเฟ่ บ้านสวยๆ วิวธรรมชาติ ชายหาดสวยๆ และอื่นๆ คนดังและแฟนด้อม ก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อของบทสนทนายอดนิยม ซึ่งเป็นการสนทนาที่สนุกสนานและมีสีสันเป็นอย่างมาก การทวีตถึงศิลปิน K-Pop โดยเฉพาะศิลปินชาวไทยอย่างแบบแบม (@BamBam1A) และ #Lisa จากวงแบล็กพิงค์ (@BLACKPINK) จนถึงศิลปินในประเทศอย่างเป๊ก ผลิตโชค(@peckpalit), วง 4EVE (@4eveOfficial) เรียกได้ว่าคนไทยนั้นเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเซเล็บดาราไทยที่แท้จริง
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่และสร้างความยากลำบากให้กับหลายๆ คน ทวิตเตอร์ยังเห็นว่าคนไทยมีความหวังและความฝัน ซึ่งเห็นได้จากธีมหลักของบทสนทนาที่ผู้ใช้งานจะทวีตถึงความหลังในอดีตถึงทริปที่เคยไปเที่ยวและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปเม้นต์ถามคนอื่นๆ ว่า “หลังหมดโควิดแล้ววางแผนจะไปเที่ยวที่ไหน”
4.การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง - การเฉลิมฉลอง และ พลังบันดาลใจ
การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้างคิดเป็นสัดส่วน 4% ของบทสนทนาทั้งหมด โดยใจความของบทสนทนาในธีมนี้มุ่งสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการแสดงด้านที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา ในอีกด้านทวิตเตอร์ก็เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ของการเฉลิมฉลอง ชาวทวิตภพมีความภูมิใจในการแบ่งปันความสุขและเฉลิมฉลองในทุกเหตุการณ์ อาทิ งานฉลองสำเร็จการศึกษา การได้เกรดดีๆ วันเกิด หรือ การฉลองครบรอบ ฯลฯ
คนไทยนั้นต่างมีน้ำใจโอบอ้อมอารีในการทำให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกที่ดีขึ้น ในแบบของ พลังบันดาลใจ ทวิตเตอร์จึงเปรียบเสมือนเครือข่ายในการช่วยเหลือสนับสนุนกัน ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทวีตข้อความทั่วๆ ไปที่เป็นการส่งพลังบวกให้กับทุกคนในชุมชนโดยรวม ไม่ได้เป็นการระบุเจาะจงถึงบุคคลใดแต่เป็นการให้กำลังใจกับคนอื่นๆ ที่ต้องการกำลังใจอาจเลื่อนทวีตผ่านมาเห็น
แบรนด์จะเชื่อมต่อกับแต่ละคอมมูนิตี้และบทสนทนาได้อย่างไร?
ด้วยบทสนทนา 10 หัวข้อที่เป็นตัวกำหนดธีมทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ 4 รูปแบบของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในประเทศไทย ทำให้เห็นว่ายังมีพื้นที่ว่างมากมายมหาศาลบนทวิตเตอร์ที่รอให้แบรนด์เข้าไปเชื่อมต่อและสามารถสร้างความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับกลุ่มเป้าหมายได้ ดังนั้นโอกาสกำลังรออยู่ ซึ่งตอนนี้แบรนด์ต้องมาถึงทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไปบนถนนที่ราบเรียบ ทางเดินง่ายๆ กับผลลัพธ์ที่ลดน้อยถอยลง หรือจะเลือกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนากับชาวทวิตภพ ซึ่งแบรนด์ยุคใหม่จะลงทุนในการเรียนรู้ถึงประเภทต่างๆ ของคอมมูนิตี้ชุมชนและบทสนทนาบนทวิตเตอร์และเข้าไปสร้างความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ในแบบที่จริงแท้มากยิ่งขึ้น จนสามารถสร้างผลลัพธ์ได้ดีในที่สุด
บนทวิตเตอร์มีผู้คนหลากหลาย มีบทสนทนาในแง่บวกมากมาย และยังประกอบด้วยคอมมิวนิตี้ที่มีความสร้างสรรค์หลายกลุ่มที่ทำให้ทวิตเตอร์เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับแบรนด์ โดยจากข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้จ่ายของผู้ใช้ทวิตเตอร์กับการรับรู้ถึงความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมของแบรนด์สูงถึง 88% ในขณะที่ 25% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าจากการพิจารณาถึงแบรนด์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในวัฒนธรรมของพวกเขา
“หลายแบรนด์เริ่มต้นวางแผนการทำการตลาดด้วยแนวคิดที่คิดไปก่อนล่วงหน้า เช่น ทวิตเตอร์เป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ แต่ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่หลากหลายสำหรับผู้คนที่หลากหลายแตกต่างกัน และหลายแบรนด์ก็เริ่มที่จะเข้าใจในจุดนี้ ทวิตเตอร์เป็นการรวบรวมผู้คนที่หลากหลายและคิดเห็นต่างกัน ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่แบรนด์สามารถเข้ามาศึกษาเพื่อช่วยให้เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น” นายมาร์ติน ยูเรน กล่าวเสริม
1.บันทึกส่วนตัว: ควรสร้างแบรนด์แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสื่อสารเชิงองค์กรที่มากเกินไป
พื้นที่การสนทนากลุ่มนี้มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดบนทวิตเตอร์ แต่มีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายนี้ หากแบรนด์ใดก็ตามที่ใช้โอกาสนี้ก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากบทสนทนามีศูนย์กลางเป็นเรื่องราวกิจวัตรและสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ดังนั้นการขายแบบฮาร์ดเซลล์ที่จงใจขายแบรนด์และผลิตภัณฑ์แบบโจ่งแจ้งชัดเจน จะไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร แบรนด์ควรจะมองหาวิธีในการสร้างแบรนด์แบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างเสียงที่เป็นลักษณะเฉพาะของแบรนด์ขึ้นมาและเอ็นเกจกับผู้บริโภค เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในระยะยาว
2. การเชื่อมต่อกับคนคอเดียวกัน: ความเร็ว และเนื้อหาที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย คือหัวใจสำคัญในการเชื่อมต่อ
สำหรับธีมของการสนทนานี้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนกำลังมองหาข่าวสารที่ย่อยง่ายและข้อมูลที่อัปเดตเกี่ยวกับเหตุการณ์ล่าสุด แบรนด์ที่อยากเข้ามาสื่อสารกับพื้นที่ในส่วนนี้ควรจะสื่อสารด้วยเนื้อหาที่อัปเดต ทวีตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรือการขายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ถึงจะสามารถส่งเสียงสะท้อนไปถึงกลุ่มคนได้ดี เอนเกจเม้นต์ของพื้นที่ในธีมนี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นสิ่งที่มีความสำคัญแบรนด์ควรจะต้องพิจารณาคือต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจน กระชับ ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถดำเนินการได้ในทันที
3. การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง: กุญแจหลักที่ต้องมี คือ เนื้อหาเชิงบวก ผ่อนคลาย และให้กำลังใจ
พื้นที่การสนทนาในกลุ่มนี้ต้องภาพประกอบสวยงามซึ่งชาวทวิตภพมีแนวโน้มที่จะแชร์รูปภาพที่มีเนื้อหาตรงใจพวกเขามากที่สุด การจัดวางองค์ประกอบภาพที่มีข้อความประกอบเพียงเล็กน้อยจะสามารถดึงดูดความสนใจได้ เพราะสิ่งที่ผู้คนต้องการซื้อคือความความรู้สึก ไม่ใช่สิ่งของ เช่น ความรู้สึกที่พวกเขาได้รับจากการซื้อสินค้าแฟชั่นที่เป็นเทรนด์ใหม่ล่าสุดมาใช้ เช่น ลิปสติกรุ่นใหม่ล่าสุดหรือน้ำหอมกลิ่นใหม่ล่าสุด แบรนด์ควรจะสร้างมู้ดแอนด์โทนที่สนุกสนานและกระตุ้นอารมณ์เชิงบวกด้วยการใช้ภาพที่สร้างสรรค์ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายให้แน่นแฟ้นและช่วยเสริมแกร่งแบรนด์ให้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้าอยู่ตลอด
4.การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง: อาวุธหลักในการดึงความสนใจ คือ รูปที่สวยงาม และสะดุดตา
ธีมการสนทนากลุ่มนี้จัดได้ว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแง่มุมในการสร้าง “ความรู้สึกดีๆ” บนทวิตเตอร์ สำหรับแบรนด์ที่อยากสร้างความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายบนบทสนทนาพื้นที่นี้ ควรจะแชร์ข้อความที่มีเนื้อหาสบายๆ สอดแทรกอารมณ์ขัน และสร้างความรู้สึกดีๆ ส่วนคอนเท้นต์ที่ต้องการแอคชั่นควรจะสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นได้ในทันทีและกระตุ้นให้เกิดการซื้อ เช่น ทวีตเกี่ยวกับการขายสินค้าที่มีความโดดเด่นสะดุดตา การร่วมแข่งขัน หรือโปรโมชั่นต่างๆ
ชาวทวิตภพนั้นทรงอิทธิพล มีความคิดที่เปิดกว้าง และยังสามารถขับเคลื่อนผลลัพธ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับพลังบทสนทนาของทวิตเตอร์ได้ที่ https://marketing.twitter.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น