ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับ Facebook
Live “รู้จักผื่นภูมิแพ้ผิวหนังดีแล้วหรือยัง”
เนื่องในสัปดาห์ภูมิแพ้โลก (World Allergy Week 2021) ภายใต้คอนเซ็ปต์ #BeAllergyChampion #BeatAD โดยเพจ ‘ภูมิแพ้ก็แพ้เรา’
(Beat Allergy) เฟสบุ๊คเพจดังที่ทำหน้าที่เป็นคลังความรู้เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ไว้อย่างครอบคลุม
ที่เปิดโอกาสให้ใครหลายๆ คนได้คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างจริงจังกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนครอบครัวผู้ป่วย
ปัจจุบันพบว่ามีหลายคนที่ต้องเผชิญกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
หรือ Atopic
Dermatitis ที่มากับอาการผื่นแดง คัน ผิวแห้งเป็นขุย ตุ่มน้ำ ที่เป็นๆ
หายๆ และกระทบกับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างลึกซึ้ง
ทางเพจจึงจัดงานทอล์คสบายๆ นำโดย ศ.ดร.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบทางเดินหายใจ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พร้อมรับฟังประสบการณ์จริงจากผู้ป่วยและผู้ดูแล จนถึงแนวทางการรับมือกับโรคจาก
พญ. ศิวาพร ทรัพย์สพรั่ง กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลสินแพทย์
ศรีนครินทร์ และ คุณภาณุ เชาว์ปรีชา ตัวแทนผู้ปกครองของผู้ป่วย
ศ.ดร.พญ.
อรพรรณ โพชนุกูล กล่าวว่า “โรคภูมิแพ้ผิวหนังเหมือนเป็นด่านแรกของโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ
ร้อยละ 40-50
ของคนไทยเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนต้นเรื้อรัง เช่น จาม น้ำมูก
คัน คัดจมูก รองลงมาคือโรคหอบหืดเรื้อรัง และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งแบ่งออกเป็น
2 ลักษณะคือ ‘ลมพิษ’ จะมีอาการนูน แดง คัน ขอบเขตชัด และหายอย่างไร้ร่องรอย ส่วน ‘ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง’ เป็นโรคเรื้อรัง อาการจะรุนแรงกว่าลมพิษและเป็นๆ
หายๆ มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจจะส่งผลให้เกิดอาการแพ้อื่นๆ
ตามมา เช่น แพ้อากาศ หอบหืด และแพ้อาหารได้ด้วย”
นอกจากนี้
พญ. ศิวาพร ทรัพย์สพรั่ง ในฐานะผู้มีประสบการณ์จริงและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
กล่าวเสริมด้วยว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีอาการคัน ผิวแห้ง อักเสบ
และมีรูปแบบของผื่นจำเพาะ มักจะเกี่ยวข้องกับอายุด้วย เช่น ทารก (2 เดือนถึง 2 ขวบ) ส่วนใหญ่จะมีอาการผื่นตามแก้ม
ข้อศอก ข้อเข่า นูนแดง อักเสบ และมีน้ำเหลือง เด็กวัยนี้ยังเกาไม่เป็นอาการแดงจึงเกิดจากการเสียดสีกับที่นอน
เด็กโต (2 ขวบถึง 12 ปี) จะปรากฎผื่นตามข้อพับแขน
ข้อพับขา ซอกคอ และซอกหู เด็กจะมีอาการคันและรอยเกาชัดเจน
“การทดสอบภูมิแพ้สามารถทำได้จาก
‘Skin
Taste’ หรือทดสอบภูมิแพ้ผ่านทางผิวหนัง และการเจาะเลือด ส่วนใหญ่คนที่มีอาการผื่นแพ้ผิวหนังรุนแรงมักจะแพ้อาหารร่วมด้วย
เช่น นมวัว ไข่ อาหารทะเล ถั่วลิสง ถั่วเหลือง แป้งสาลี และเต้าหู้
ในคนไข้ที่แพ้ถั่วมักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าแพ้อาหารอื่นๆ ส่วนตัวแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ที่สงสัยว่าลูกจะมีอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพาลูกมาทดสอบอาการแพ้ตั้งแต่เด็กเพื่อจะค้นหาสาเหตุและหลีกเลี่ยงอาการเฉียบพลันต่างๆ
ที่อาจเกิดขึ้นได้”
แนวทางการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ประกอบด้วย การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้ ควบคู่กับการใช้ยารักษาโรค และยาฉีดกลุ่มชีวภาพสำหรับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมาก
โดย ศ.ดร.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล แนะนำวิธีการดูแลผิวสำหรับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นเพราะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
ทำความสะอาดผิวด้วยสบู่ไร้ด่างปราศจากน้ำหอมหรือ Soap Free และบำรุงผิวด้วยโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำ ควรทาโลชั่นในปริมาณมากพอสมควรภายใน
5 นาทีหลังอาบน้ำ
เพื่อให้น้ำเป็นตัวนำพาโลชั่นให้ซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและไม่ชอบบำรุงผิวด้วยโลชั่น
เช่นเดียวกับลูกชายของคุณภาณุ เชาว์ปรีชา ผู้แบ่งปันประสบการณ์การดูแลผิวของลูกที่โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังทำลายความมั่นใจอย่างมาก
จึงรีบไปปรึกษาแพทย์
“เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์
ซึ่งทั้งคุณปู่และผมเป็นมาก่อน และถ่ายทอดมายังลูก ซึ่งก่อนจะพบคุณหมอยอมรับว่ากังวลกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังของลูกมาก
คุณหมอแนะนำให้รักษาด้วยการรับประทานยา ดูแลรักษาผิวให้ดี
และการรักษาด้วยยาฉีดกลุ่มชีวภาพเมื่อมีอาการที่รุนแรง ส่วนตัวผมแนะนำให้คนที่มีอาการแพ้ไปพบคุณหมอจะดีกว่าซื้อยารักษาเอง
เพราะคุณอาจจะรักษาไม่ถูกต้องและทำให้เกิดโรคเรื้อรังได้
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก”
โอกาสนี้
คุณหมอทั้งสองท่านยังได้ร่วมกันตอบคำถามแก่ผู้ชมทั่วประเทศเกี่ยวกับอาการแพ้ต่างๆ
เช่น อาการแพ้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ อาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในวัยทารก การแพ้นมวัว
การแพ้อาหารเฉียบพลันและการแพ้อาหารสะสม ผื่นคันบริเวณมือและเท้า
ผื่นคันจากแพ้เหงื่อและแสงแดด เป็นต้น สามารถรับชมเฟสบุ๊ค ไลฟ์ย้อนหลังในหัวข้อ
“รู้จักผื่นภูมิแพ้ผิวหนังดีแล้วหรือยัง” ได้ทาง https://www.facebook.com/beatallergy
และติดตามความเคลื่อนไหวพร้อมข้อมูลดีๆ
เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ได้ทางเพจภูมิแพ้ก็แพ้เรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น