กรุงเทพฯ (24 กุมภาพันธ์ 2564) – วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าขนส่งถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ววันนี้ ซึ่งเป็นการส่งมอบเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้เพื่อเป็นอีกความหวังของประเทศไทยในการฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 วัคซีนชุดแรกของแอสตร้าเซนเนก้าที่ขนส่งมายังประเทศไทยมีจำนวน 117,600 โดส นับเป็นก้าวสำคัญสู่การเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะทำการส่งมอบเพื่อเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนในประเทศไทย
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการยืนยันว่ามีความปลอดภัยและสามารถป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเว้นระยะเวลาในการให้วัคซีนโดสแรกและโดสที่สองห่างกันตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์ ผลการทดลองทางคลินิกยังระบุว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ 100% ตั้งแต่ 22 วันหลังจากฉีดวัคซีนโดสแรก
ทั้งนี้ผลการวิจัยล่าสุดยังพบว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเมื่อยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สองห่างกันนาน 12 สัปดาห์ โดยประสิทธิผลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 76% (ดัชนีค่าประสิทธิผลอยู่ระหว่าง 59% ถึง 86%) ขึ้นไปที่ระดับ 82% (ดัชนีค่าประสิทธิผลอยู่ระหว่าง63% ถึง 92%) วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถเก็บและจัดส่งที่อุณหภูมิเครื่องแช่เย็นทั่วไปที่มีใช้อยู่แล้วในระบบสาธารณสุข (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส) ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน
วัคซีนที่ส่งมอบดังกล่าวมาจากสายการผลิตในระดับโลกของแอสตร้าเซนเนก้าตามพันธกิจในการสนับสนุนให้ประชาชนจำนวนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา
แอสตร้าเซนเนก้าร่วมทำงานกับพันธมิตรมากกว่า 20 รายจัดตั้งสายการผลิตมากกว่า 12 แห่งครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ เพื่อเร่งดำเนินการผลิตและส่งมอบวัคซีน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าว่า “วัคซีนที่มาถึงในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 เราจะเริ่มต้นแผนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนชาวไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเริ่มต้นจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เสี่ยงสูงสุดเป็นอับดับแรก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วันนี้เราได้ก้าวไปอีกขั้นของการเอาชนะโรคระบาดครั้งนี้ และผมตั้งตารอนาทีประวัติศาสตร์ของการฉีดวัคซีนเข็มแรกในประเทศไทย พร้อมกับการเดินทางเพื่อข้ามผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปด้วยกัน”
เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตราเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการส่งมอบวัคซีนในประเทศไทยว่า “การขนส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าชุดแรกมายังประเทศไทยนั้น นับเป็นความสำเร็จของทีมงานที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้การจัดส่งวัคซีนเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถส่งมอบได้เร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้จากแผนเดิม ในวันนี้เราได้บรรลุอีกหนึ่งเป้าหมายเพื่อตอกย้ำพันธกิจของแอสตร้าเซนเนก้าในการผลิตและจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อร่วมคลี่คลายการแพร่ระบาด”
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ เดิมเรียก AZD1222
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าคิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
ข้อมูลการวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนมาจากการทดลองระยะที่3 โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรและบราซิล ซึ่งได้ทำการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัคร 11,636 รายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้มีอาสาสมัครผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 131 ราย
ผลการวิเคราะห์ความปลอดภัยโดยรวมของวัคซีนมาจากข้อมูลการทดลองทางคลินิก 4 ครั้งที่ดำเนินการในสหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ จากอาสาสมัคร 23,745 รายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีความปลอดภัยและไม่มีรายงานเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยร้ายแรงที่เกี่ยวเนื่องกับวัคซีน โดยกลุ่มอาสาสมัครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภูมิลำเนา มีทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งควบคุมอาการได้
นอกเหนือจากการวิจัยนำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว แอสตร้าเซนเนก้ายังได้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าดึงอาสาสมัครจากทั่วโลกให้เข้าร่วมการวิจัยมากกว่า 60,000 ราย
วัคซีนป้องกันโควิด-19ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับอนุมัติให้ใช้อย่างมีเงื่อนไหขหรือเป็นกรณีฉุกเฉินในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกที่จะช่วยเร่งให้ 145 ประเทศทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโคแวกซ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น